top of page
IMG_2424.jpg
01 : กลับมาเถิดวันทอง - การประกอบสร้างภาพลักษณ์ของนางวันทองขึ้นใหม่ / Foyfon Chaimongkol 2012

ตอนที่เรายังเป็นเด็ก โลกของผู้ใหญ่คือโลกที่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำย่อมถูกต้องเสมอ เราจึงผิดหวังอย่างเจ็บปวดเมื่อค้นพบว่าผู้ใหญ่ที่เราเคยนับถือที่สุดก็อาจทำเรื่องผิดพลาดลงไปได้ เมื่อเติบโตขึ้นจึงค่อยเข้าใจด้วยตัวเองว่าการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง และยิ่งไปกว่านั้น - คำว่า "สมบูรณ์แบบ" ของแต่ละคนย่อมต่างกันไปตามคุณค่าที่ยึดถือ

แต่นั่นจะสายไปแล้วหรือยังสำหรับการหันหน้ามาพูดคุยและให้อภัยต่อกัน
 

ผู้เขียนคิดเรื่องนี้ ในช่วงสนทนาหลังจบการแสดงเรื่อง "กลับมาเถิดวันทอง" ผลงานละครโดยกลุ่มอนตฺตา และคุณประดิษฐ ประสาททอง ซึ่งแสดงเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานนิทรรศการ "มุมมองใหม่ ขุนช้างขุนแผน"2 ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 แต่การแสดงในครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฉลอง 10 ปี เทศกาลละครกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2555
 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการติดตามผลงานของคุณประดิษฐตั้งแต่เรื่อง ยักษ์ตัวแดง (ส.ค.2552), ฝันกลางไฟ (ส.ค. 2553), และ รถไฟฟ้า...มาหาอะไร(พ.ย. 2553)1 ทำให้รู้ว่า ไม่ควรแต่งหน้าไปดูละครของคุณประดิษฐเด็ดขาด เพราะจะต้องร้องไห้จนเครื่องสำอางเลอะเทอะแน่นอน แม้ว่าคุณประดิษฐจะยืนยันว่าทำละครเรื่องนี้อย่าง "ขำๆ เบาๆ เพราะผมเป็นคนขำๆ เบาๆ"

และก็เป็นไปตามคาด - น้ำตาไหลพรากๆตลอดเวลา ไม่ต่างกับตอนดูหนังเรื่อง The Lady

ด้วยงานศิลปะที่ทรงพลัง ย่อมกระตุ้นความทรงจำที่เจ็บปวดที่สุด ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุด และยากจะพูดถึงมากที่สุด ให้หวนกลับมาปรากฏชัดต่อหน้าได้เสมอ
 

คุณประดิษฐหยิบยกเอาประเด็นที่นางวันทองถูก "ตัดสิน" มาตีความใหม่ โดยเล่าเรื่องผ่านจมื่นไวยผู้เติบใหญ่แล้ว แต่ไม่อาจลืมความหลังเรื่องแม่ของตนที่ตายไป ดังนั้นการทำให้แม่ลูกได้กลับมาพูดคุยกันอีกครั้งในละครเรื่องนี้ จึงเป็นหนทางที่คุณประดิษฐเสนอให้เพื่อแก้ไขสิ่งที่ยังค้างคา

"กลับมาเถิดวันทอง" จึงไม่ใช่การนำขุนช้างขุนแผนมาเล่นซ้ำ แต่เป็นเหมือนการ "สร้างภาคต่อ" (sequal) โดยอาศัยเนื้อความจากเรื่องเดิมซึ่งเล่าถึงความวุ่นวายต่างๆ อันเนื่องมาจากความรักที่ไม่ลงตัวระหว่างขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทอง แต่สุดท้ายต้องลงเอยอย่างน่าเศร้าเมื่อนางวันทองถูกตัดสินด้วยโทษประหาร หลังจากที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่กับขุนช้าง ขุนแผน หรือจมื่นไวยผู้เป็นลูกของนางเอง เพราะว่า-
 

 "ความรักขุนแผนก็แสนรัก ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์

  สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน สารพันอดออมถนอมใจ

  ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่

  เงินทองกองไว้มิให้ใคร ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว

  จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัวฯ"
 

ดังที่เป็นมา ผลงานละครของคุณประดิษฐ มีเอกลักษณ์ที่สำคัญอยู่ตรงความ "น้อย" อันได้ผล "มหาศาล" ละครจึงจัดแสดงขึ้นในห้องที่จุผู้คนได้ไม่มาก มีม่านผืนบางกั้นเป็นฉาก เวทีคือยกพื้นไม้เตี้ยรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดประมาณ 3x3 เมตร บทพูดทั้งหมดถูกจำกัดด้วยฉันทลักษณ์ และมีนักแสดงหลักสามคนเท่านั้น

- คุณประดิษฐแสดงเป็นจมื่นไวยวรนาถในวัยกลางคน, คุณดวงใจ หิรัญศรี แสดงเป็นนางวันทองผู้เป็นแม่ซึ่งตายจากไปนานแล้ว, และคุณสุขุมพันธ์ ฐิติธนพันธ์ แสดงเป็นจมื่นไวยเมื่อครั้งที่ได้พบกับวิญญาณของนางวันทองในระหว่างยกทัพไปสู้รบ

 

ละครเริ่มจากเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตว่านางวันทองได้มาปรากฏตัวให้จมื่นไวยหนุ่มได้พบในสภาพใด(ปีศาจ, เปรต) นางวันทองต้องโทษประหารได้อย่างไร(เพราะสองใจ) และขุนช้างและขุนแผนเสียใจกับความตายของนางขนาดไหน (เสียใจมาก)

ที่น่าสนใจก็คือ นักแสดงทั้งสามคนสามารถ "กลายร่าง" เป็นบุคคลอื่นได้ในทันทีเมื่อพูดถึงตัวละครนั้นๆ เช่น นางวันทองสามารถกลายเป็นพระพันวษาผู้เปิดโอกาสให้นางตัดสินใจ


“ถ้ารักใหม่ก็ไปอยู่กับอ้ายช้าง ถ้ารักเก่าเข้าข้างอ้ายขุนแผน

 อย่าเวียนวนให้คนมันหมิ่นแคลน ถ้าแม้นมึงรักไหนให้ว่ามา

 จะรักชู้ชังผัวมึงกลัวอาย จะอยู่ด้วยลูกชายก็ไม่ว่า

 ตามใจกูจะให้ดังวาจา แต่นี้เบื้องหน้าเด็ดขาดไปฯ”
 

แต่เมื่อนางไม่อาจเลือกได้ พระพันวษาก็เป็นผู้สั่งให้นำนางไปประหาร เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแห่งความวุ่นวายในนครต่อไปอีก
 

จมื่นไวยวรนาถในวัยกลางคนเพียงเอาผ้ามาผูกเอวก็กลายเป็นขุนแผนสุดหล่อผู้เก่งกาจ แต่ก็ยังคงเศร้าสร้อยกับความตายของนางวันทองที่เคยรักกันถึงขนาดที่


“เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร่ฝ้าย

 พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอนฯ"

 และความตายของนาง คงเป็นสิ่งที่ขุนแผนยากจะให้อภัยตนเองไปตลอดชีวิต


"คนอื่นหมื่นแสนก็คุ้มรอด ยอดรักคนเดียวไม่คุ้มได้

 จำเพาะเด็ดดวงจิตปลิดเอาไป ช่างกระไรพ้นที่จะป้องกันฯ"


แต่พอเปลี่ยนผ้ามาพาดไหล่หลวมๆ นักแสดงคนเดิมก็กลายเป็นขุนช้างที่ร่ำรวยและรักนางวันทองมากจนน่าสงสาร เพราะขุนช้างเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า
 

"พระองค์ทรงซักว่ารักใคร แม่สองใจคิดยากหากโลเล

 ให้การใหลหลงทรงโกรดเกรี้ยว ถ้ารักช้างข้างเดียวขนมโก๋

 จะได้อยู่เรือนเหย้าเสาโตโต แกงเทโพกินเล่นให้เย็นใจ"

 แม่มาตายกลางดินเขานินทา แม่ยอดฟ้าฝาบาตรกระจาดใหญ่

 จะหาไหนเหมือนแม่แต่นี้ไป แม้ไม่ได้เช่นนี้ไม่มีเมีย

 เรือนเหย้าข้าวของถวายพระ จะสละโกนหนวดไปบวชเสีย

 ถึงลูกคุณหลานหม่อมจะยอมเยีย มีเมียไปทำไมไม่เหมือนกันฯ"


หลังจากนั้นฉากสำคัญที่สุดของละครก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อจมื่นไวยวรนาถในวัยกลางคนได้พบกับนางวันทองที่ตายไปแล้วอีกครั้ง ตรงนี้เองที่จมื่นไวยค่อยๆเปิดเผยปมความรู้สึกผิดของตนให้ผู้ชมได้เห็นชัดมากขึ้น เมื่อเขาถามว่า ใช่หรือไม่ ที่นางวันทองยังติดใจเรื่องที่เขาพยายามขอพระราชทานอภัยโทษจากพระพันวษาแล้ว แต่ไม่สามารถมาช่วยนางได้ทัน

และเขายังอ้ำอึ้งที่จะบอกให้นางวันทองรู้ว่า ตนเองใช้ถ้อยคำเช่นไรในการขอพระราชทานอภัยโทษ

– ถ้อยคำที่บ่งชี้ให้เห็นชัดว่าเขาเองก็เห็นด้วยว่ามารดามีความผิด ทำสิ่งไม่ดีลงไป

จุดนี้เองที่นางวันทองเสียใจมาก เพราะแม้แต่ลูกชายของนางเอง(ซึ่งควรจะเป็นคนที่เข้าใจนางได้ดีที่สุดว่าจะต้องเจอกับอะไรมาบ้าง) ก็ยังไม่ยอมอยู่ข้างเดียวกับนาง เช่นนี้ โทษที่หนักที่สุดของนางวันทองจึงไม่ใช่โทษประหารให้ชีวิตดับสิ้น แต่เป็นโทษที่เกิดจากการ "ตราหน้า" ว่าเป็นหญิงชั่ว เป็นนางวันทองสองผัว สองใจ ตามที่ถูกบริภาษเอาไว้โดยพระพันวษาว่าเป็น-


"หญิงกาลกิณีอีแพศยา มันไม่น่าเชยชิดพิศมัยฯ"
 

ความประหลาดอย่างที่สุดก็คือ ชายสยามในสมัยของนางวันทองต่างมีภรรยามากกว่าหนึ่ง แม้ตัวจมื่นไวยเองก็มีทั้งนางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาไปพร้อมกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นความผิดหรือเรื่องแปลกประหลาดอะไร ในขณะที่นางวันทองไม่ได้ตั้งใจจะมีขุนช้างและขุนแผนไปพร้อมกัน (แต่งงานกับขุนแผนก่อน แล้วโดนหลอกว่าขุนแผนตายจึงกลายเป็นเมียขุนช้าง จากนั้นโดนขุนแผนชิงตัวกลับไป ขุนแผนติดคุกจึงต้องกลับมาเป็นเมียขุนช้างอีกรอบ แล้วสุดท้ายก็โดนจมื่นไวยบังคับพาตัวไปจากขุนช้าง)
 

นางถูกตัดสินว่าผิด ทั้งๆที่นางไม่เคยมีโอกาสในการเลือกชีวิตของตัวเองเลย

บางที การที่นาง "ไม่ได้ไปผุดไปเกิด" จนต้องกลายเป็น "เปรต" นั้นอาจเป็นสัญลักษณ์ถึงการถูก "ตีตรา" (naming) เพื่อลดคุณค่าความเป็นคนลงไปนั่นเอง – ความเป็นนางวันทองที่ไม่เหมือนคนอื่นในสังคม ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเลวทราม จนไม่มีวันที่ภาพลักษณ์ของนางจะถูกแก้ไขไปในทางที่ดีได้อีก แม้แต่ในสายตาของลูกชายตัวเอง 
 

ซึ่งจมื่นไวยเองก็ยอมรับในที่สุด ว่าจำต้องบอกว่านางวันทองผิด(แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าความจริงแล้วไม่ใช่ความผิดของนางเพียงคนเดียว) ก็เพราะไม่อาจขัดขืนหรือต้านทานวิถีของโลกได้ ตัวเขาเองนั้นก็ยังมีครอบครัวและบริวารที่ต้องดูแลอยู่ต่อไป หากจะลุกขึ้นมาเข้าข้างนางวันทองอย่างเต็มที่ เขาก็อาจจะเป็นภัยไปด้วย
 

สำหรับผู้เขียน ความน่าสนใจของละครเรื่องนี้จึงอยู่ที่ ความกล้าหาญ

ประการแรก คือ ความกล้าในการนำวรรณคดีที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแพร่หลายมากที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทยมาตีความใหม่ - การนำตัวบทที่แตกต่างเหล่านั้นมาตีความร่วมกัน ย่อมต้องเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าเป็นศิษย์คิดล้างครู เพราะตามขนบธรรมเนียบไทยนั้นการแตะต้องหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่มีมาก่อนย่อมเป็นเรื่องมิบังควร โบราณสถานย่อมต้องถูกปล่อยไว้ให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามไปแตะต้องเด็ดขาด แต่สิ่งที่คุณประดิษฐ์ทำนั้นยิ่งกว่าแตะต้อง – อาจเรียกได้ว่าเป็นการ "สร้างพิพิธภัณฑ์ครอบด้วยปิระมิดแก้วในบริเวณโบราณสถาน" กันเลยทีเดียว
 

ประการที่สอง คือ ความกล้าในการนำตัวบทดั้งเดิมซึ่งมาจากผู้เขียนหลายคน นำมาประกอบสร้างขึ้นใหม่เพื่อตอบสนองการเล่าเรื่องตามแง่มุมของตนเอง - เดิมเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นเป็นนิทานคำกลอนซึ่งเล่าสู่กันฟังมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ผ่านการเล่าต่อโดยกวีหลายท่าน จนกระทั่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รวบรวมและตีพิมพ์เป็นฉบับที่แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบัน ต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงไม่ได้มีเพียงฉบับเดียว - นี่จึงหมายถึงปริมาณงานจำนวนมากที่ต้องอ่านและขบคิด ก่อนจะย่อยออกมาเป็นบทละครซึ่งอยู่ในรูปของบทกลอนล้วนๆ บทพูดบางส่วนมาจากเสภาฉบับดั้งเดิม และบางส่วนก็มาจากบทละครที่แต่งขึ้นใหม่
 

ประการสุดท้าย คุณประดิษฐกล้าที่จะใช้ละครเพื่อสัมผัสกับความรู้สึกผิดของจมื่นไวย ที่ไม่ได้ยืนหยัดสู้เพื่อไม่ให้นางวันทองถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงแพศยา การให้จมื่นไวยออกมายอมรับตรงๆว่าเขาละทิ้งนางเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปในโลกนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ ขำๆ เบาๆ เลยแม้แต่น้อย – และในบางที การยอมรับความอ่อนด้อยของตนเองนั้นอาจเป็นความกล้าหาญที่สุดก็ได้
 

ละครจบลงโดยที่นางวันทองได้เห็นจมื่นไวยก้มหน้ายอมรับความอ่อนแอของตนเอง นางจึงรับดอกบัวที่เขาใช้ขอขมา ปลิดกลีบดอกบัวนั้นวางลงรอบตัวลูกชายพร้อมอวยพรให้เขามีชีวิตที่ดีต่อไป ก่อนจะลาจากไปด้วยความเหนื่อยอ่อนกับการยึดมั่นในคุณค่าเดิม ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าต่อไปแล้วในโลกนี้
 

ในช่วงสนทนาหลังละครจบ คุณประดิษฐกล่าวถึงสิ่งที่ตั้งใจจะสื่อสารกับผู้ชมละครว่า

"ใครหมกมุ่นกับเรื่องอะไรอยู่ ก็มักจะตีความงานศิลปะให้ตรงกับเรื่องที่กำลังหมกมุ่นนั่นล่ะ แต่แน่นอนว่าเจ้าของละครก็ต้องมี agenda ของตัวเองอยู่เหมือนกัน"  
 

จากการที่ได้ติดตามผลงานละครหลายๆเรื่องของคุณประดิษฐ - ผู้เขียนก็เชื่อว่าตนเองอาจจะพอเข้าใจถึง agenda ที่แฝงเร้นอยู่ในละครอยู่บ้าง(หวังว่าจะไม่ได้เป็นฝ่ายหมกมุ่นไปเองข้างเดียว) – แก่นหลักเรื่อง ความจริง การขออภัย และความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ปรากฏมาโดยตลอดในความเห็นของผู้เขียน
 

แต่ก็ยังคงมีคำถามหนึ่งที่เหลืออยู่ในใจ จนแอบรู้สึกว่า ละครออกจะจบเร็วไปสักหน่อย

คนที่ให้คุณค่าแตกต่างกัน จะอยู่ร่วมโลกเดียวกันได้ไหม หรือจำเป็นต้องให้ฝ่ายหนึ่งตายจากไปก่อนเท่านั้น ?  

02 : คนดลใจ / หนานเกียรติ์ 2011

คนในแวดวงการละครเวทีไม่น่าจะไม่มีใครรู้จักพี่ตั้ว-ประดิษฐ์ ประสาททอง โดยเฉพาะกลุ่มละครทางเลือกหรือละครสร้างสรรค์สังคม
 

พี่ตั้วเป็น NGOs ที่บุกเบิกใช้การละครเป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนากับเด็กและเยาวชน ในนาม “กลุ่มมะขามป้อม” จนกระทั่งงานการละครเข้ามามีที่อยู่ที่ยืนในงานพัฒนาอย่างหนักแน่นมั่นคง เป็นเครื่องมือที่เยี่ยมยอดในการพัฒนา/สร้างศักยภาพเยาวชน
 

พี่ตั้วขยับถอยและลดบทบาทตัวเองออกมาจากกลุ่มมะขามป้อมหลายปีแล้ว โดยมีทีมงานที่เข้มแข็งเดินหน้าสร้างสรรค์งานต่อไป กระทั่งบัดนี้กระบวนการเรียนรู้ผ่านการละครได้ขยายขอบข่ายการทำงานไปแล้วทั่วประเทศ
 

นอกจากนั้นแล้ว พี่ตั้ว ยังเป็นแกนนำหลักคนสำคัญในการขับเคลื่อนก่อร่างสร้าง “เครือข่ายละครกรุงเทพฯ” จนเป็นรูปเป็นร่าง และมี “เทศกาลละครกรุงเทพฯ” ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี เป็นผลงานที่สำคัญ


สำหรับ “เทศกาลละครกรุงเทพฯ” นั้น มิได้มีส่วนในการพัฒนาศิลปการละครในฝั่งของผู้สร้างเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการดูละครของผู้ชมด้วย ผมเองก็เป็นอานิสงส์หนึ่งในนั้นด้วย

    

พี่ตั้วคงจะได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย รวมทั้ง รางวัลศิลปาธรปีแรกสาขาศิลปะการแสดง ซึ่งมอบให้กับศิลปินร่วมสมัย และ รางวัลอโชก้าเฟลโลว์ รางวัลสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม ฯลฯ

    

ในส่วนรางวัลอโชก้าเฟล์ดลว์ที่พี่ตั้วได้รับนั้น ผมทราบมาว่า พี่ตั้วควรจะได้รับรางวัลนี้ก่อนหน้าที่จะได้รับจริงหลายปี แต่เป็นเพราะอโชก้ายังไม่เข้าใจสิ่งที่พี่ตั้วทำก็ทำให้ต้องเลื่อนการให้รางวัลออกไป อันที่จริงก็น่าเห็นใจอโชก้าเหมือนกัน เพราะสิ่งที่พี่ตั้วทำหากจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา ไอ้การเต้นกินรำกิน จะมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมได้อย่างไร...

    

ผมเคยโฉบเฉี่ยวไปใกล้พี่ตั้วในลักษณะการร่วมงานกันคราวหนึ่ง เมื่อคราวที่ผมยังทำงานอยู่ในศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ ในตอนนั้นผมและทีมงานนิยามว่าความสามารถพิเศษด้านการแสดงเป็นความสามารถพิเศษประการหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริม จึงผลักดันให้มีค่ายการละครขึ้น โดยได้ร้องขอให้กลุ่มมะขามป้อมมาเป็นผู้ดำเนินการ ผู้ลงมือดำเนินการคือทีมงานของมะขามป้อม พี่ตั้วมาร่วมบ้างเป็นบางคราว โดยเฉพาะในช่วงท้ายของค่ายฯ

    

ผมเจอกับพี่ตั้วไม่บ่อยนัก น่าจะราวปีละครั้ง แต่เพราะอิทธิฤทธิ์ของ Social Network บนสังคมออนไลน์ ทำให้ผมได้พบและคุยกับพี่ตั้วในนั้นถี่ขึ้น แทนที่จะรอจังหวะมาพบกันแบบตัวเป็น ๆ

    

วันหนึ่งพี่ตั้วโพสต์ข้อความลงใน Facebook ในหน้าของเขาว่า

วันนี้จะได้ปลื้มกับบทพระไวยอีกเพียงสองรอบ ก่อนอำลาเวทีไปรับบทบาทใหม่ในวันพรุ่ง นี่แหละชีวิตคนละคร

    

ผมเกือบเขกกระโหลกตัวเองสักโป๊กนึง เพราะมัวแต่ไปเซ่อซ่าอยู่ที่ไหนจนไม่รู้เรื่องรู้ราว การพูดคุยกันใน Facebook ทำให้รู้ว่าวันนี้จะมีละครที่พี่ตั้วกำกับและเล่นสองรอบสุดท้าย บ่ายรอบนึงและอีกรอบนึง ตอนทุ่มครึ่ง ที่ หอศิลป์บ้านจิมทอมสัน เรื่อง “The Return of Wanthong” หนึ่งในกิจกรรมสำหรับนิทรรศการ Re-Reading Khun Chang Khun Phaen ของที่นี่

    

เวลาเลยทุ่มไปเล็กน้อย ผมก็ยืนทำหน้าปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออย่างน่าสงสารอยู่ที่โต๊ะลงทะเบียน บนหอการแสดงศิลปะ บ้านจิมทอมสัน เพราะบัตรเต็ม เจ้าหน้าที่ขายบัตรบอกให้รอเผื่อว่าจะมีคนที่จองไว้แล้วไม่มา กระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเชิญผู้ชมผมก็ได้ตั๋ว แล้วผมก็ได้พบกับพี่ตั้วอีกครั้งบนเวทีในบทพระไวย “จมื่นไวยวรนาถ” ลูกชายของนางวันทอง ที่ผมตะเกียกตะกายไปดูจนได้


เวลาหนึ่งชั่วโมงที่หมดไปอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว

    
ละครบ้าอะไรกันวะเนี่ย ทำไมทำได้ดีขนานนี้ ทั้งเพลงประกอบ บทเสภา บทกวี นักแสดง และบทละคร ฯลฯ ผมรำพึงรำพันกับตัวเอง ขณะเดินออกจากห้องแสดงละคร

    

ไม่เพียงความรื่นรมย์และสุนทรีย์ที่ได้รับจากละครเท่านั้น ละครเรื่องนี้ให้คำอธิบายทำให้ผมหมดเรื่องราวคาใจเกี่ยวกับนางวันทองไปจนสิ้น

    

ผมคุยกับพี่ตั้วกันคนละประโยค แล้วก็แยกตัวออกมาเพราะแฟนนานุแฟนพี่ตั้วต่อแถวยาวรอมาแสดงความยินดีและขอบคุณที่สร้างสรรค์ละครดี ๆ มาให้ได้ชมกัน

    

อันที่จริงแล้วความสามารถด้านการละครของพี่ตั้วมิใช่แรงบันดาลใจอะไรสำหรับผมหรอก ในเรื่องนี้แล้วผมน่าจะเป็นนักชมละครระดับปลายแถว แต่สิ่งที่ผมชื่นชมพี่ตั้วก็คือ “วิถี” ของพี่แกตะหาก

    

พี่ตั้วได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของคำพระสอนข้อหนึ่งที่ว่า “การอยู่อย่างต่ำแต่กระทำอย่างสูง”

   

ขอคารวะพี่ตั้วด้วยบันทึกนี้ครับ...

IMG_2322.jpg

03 : Sympathy for Wanthong / Pawit Mahasarinand 2011

The 'Khun Chang Khun Phaen' show at the Thompson Art Centre stirs tradition - and a ghost
 

Thais tend to show interest in art exhibitions only at the opening, when the artist is on hand and there might be performances and snacks. Then the number of visitors drops off. 
 

Not so for "Re-Reading Khun Chang Khun Phaen" at the Jim Thompson Art Centre. It's maintaining public interest with ongoing events as well as its compelling display content, assembled by Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, the married couple who last year produced a comprehensive English translation of the Thai literary epic. 
 

The exhibition features artistic depictions of the classical story by, among others, Hem Vejakorn, Chakrabhand Posayakrit and Kornkrit Jianpinidnan. 

Meanwhile Silpathorn Award winners Pradit Prasartthong and Nikorn Saetang staged "The Return of Wanthong" last weekend, with the promise of more shows to come. 
 

The capacity audience applauded enthusiastically at its close. The performance underscored the message of the exhibition - that there is no one absolute take on the beloved story of Khun Phaen, Khun Chang and the woman between them, Wanthong. 
 

The stage was in the middle of the room adjacent to the exhibits and viewers sat on all four sides. An English translation appeared on televisions on the wall. 
 

So everyone could easily enjoy the beauty of the language and music in the newly written scene, in which the ghost of Wanthong appears to her son Phra Wai, now in his late 40s.
 

The scene asks that his mother's character be reconsidered, especially in modern times when society is somewhat less male-dominated. 

With a shortage of the dance movements you might expect in any presentation of a classical work, the focus was fully on the story itself. 

Sukumphan Thitithanaphan as the young Phra Wai, Duangjai Hiransri as the ghost and Pradit as the older Phra Wai spoke their lines clearly and realistically, offering the rationale for their actions and evoking empathy. 
 

Pradit says this is a work-in-progress. Many viewers would agree that it's progressed far and in the right direction. He plans to present a finished version on the lawn of Jim Thompson House in November, as part of the Bangkok Theatre Festival.
 

On June 11 there'll be a sepha performance of the episode "Khun Phaen Abducting Wanthong", in Thai with an English summary. 
 

On June 25, Bruce Gundersen will offer an "Interpretation of Khun Chang Khun Phaen in a Foreigner's Perspective". More events are being readied for July and September. 
 

The literary, visual and performing arts were more connected in times gone by. They related more to one another and to life. This is rare these days, in part because artists are trained and work separately. 
 

Thanks to this exhibition at the Thompson Centre, we can again see some of the connections, not only among different fields of arts but also between traditional art and contemporary life.

04 : ทำไมวันทองตายแล้วต้องเป็นเปรต ขวัญชนก พีระปกรณ์ 2011

ทำไมวันทองตายแล้วต้องเป็นเปรต?
 

คำถามนี้เป็นคำถามสะกิดใจตัวเองมาตลอดเวลา ทำไมตายแล้วเป็นเปรต?
 

ถ้าจำไม่ผิดคนจะตายไปเป็นเปรต ต้องทำกรรมชั่วมาในระดับหนึ่ง เช่นขโมยของพระของเจ้า ขี้ตระหนี่ ทุบตีพ่อแม่ คอรัปชั่น นู่นนั่นนี่ ฯลฯ ถ้าพิจารณาบทบาทของเธอจากเนื้อเรื่องแล้ว ตายไปไม่น่าจะรับทุกขเวทนาถึงเพียงนั้นการตีความใหม่ของคุณลุงตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง ใน "The Return of Wanthong" ก็คงจะเป็นการตอบคำถามนี้ได้...ไม่สิ ต้องบอกว่าเป็นการ "เล่าใหม่" ว่าแท้จริงเธอไม่ได้ตายไปเป็นเปรต แต่เธอเป็นนางฟ้า หรือจิตวิญญาณที่รอการไปเกิดใหม่ หลังจากการสะสางปัญหาคาใจกับจมื่นไวยวรนาถมากกว่า...
 

ด้วยการผสมผสานกลอนเสภาหลากหลายฉบับ ดนตรีไทยเคล้าเปียโนเพราะ ๆ และการแสดงที่พลังงานเยอะมากของนักแสดงทั้งสามท่าน ทำให้การกลับมาของวันทองในครั้งนี้ดูทรงพลังอย่างยิ่ง พร้อมกับแง่คิดและการตีความใหม่ที่ไหลบ่าท่วมท้นจนปวดหัว (อันนี้หนูเป็นเอง 555 ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นหรือเปล่า)
 

ความจริงแอบอยากให้แจกบทหลังการแสดงด้วยซ้ำค่ะว่าร้องอะไรกันไปบ้าง กลอนตัดไปตัดมาจนอยากจะเปิดบทอ่านเหลือเกิน มีหลายสำนวนมากจนอยากจะรู้ว่ามาจากตรงไหนอย่างไร ดูโดยรวมแล้วเนียนกลมกลืนและประสานกับสิ่งที่ต้องการสื่อมากๆ ค่ะ

สิ่งที่ได้จากการกลับมาของวันทองครั้งนี้ คงจะเป็นการย้ำอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่อง "อำนาจ" มือที่มองไม่เห็นที่ไม่สามารถต่อกรได้ อำนาจของพระพันวษาในเรื่องขุนช้างขุนแผน (รวมทั้งผู้อยู่บนจุดสูงสุดของวงจรอำนาจ) แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสามารถกำหนดความเป็นความตายได้กับมนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่ศักดิ์ต่ำกว่าตน
 

และครั้งประหารวันทองนี้ ก็น่าจะเป็นการแสดงอำนาจที่อดคิดไม่ได้ว่า ผู้ชายจะเป็นใหญ่ไปถึงไหน? นางวันทองถูกกระทำชนิดที่เจ๊กลากไปไทยลากมา คนผิดควรจะเป็นฝ่ายชายที่เมากันเหลือเกิน ไม่รู้จะเมาไปไหน ลากกันไปกันมา สุดท้ายแจ๊คพอตตกอยู่ที่วันทอง เป็นการแสดงอำนาจสองชั้นด้วยซ้ำไป ทั้งอำนาจของ "เจ้าชีวิต" และอำนาจที่ตัดสินโดยมุมมองของ "เพศชาย" 

 

อำนาจนั้นใหญ่เสียจนพระไวยผู้เก่งกล้าถึงแก่ยอมสยบ พยายามทูลเอาใจเพื่อช่วยเหลือแม่ ทั้งๆ ที่พระไวยเทิดทูนและรักแม่มาก แต่แล้วความรักของแม่และลูกกลับถูกทำลายลงด้วยอำนาจที่ฉันคิดว่าตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมที่สุด วันทองถึงกับเข้าใจผิดว่าพระไวยไม่รักและรู้สึกว่าไม่สมควรจะเป็นแม่ของพระไวย แต่พระไวยรักแม่ ภาพของแม่ในสายตาของพระไวยนั้นสวยงามเสมอ แม้ภาพจริงจะแต่งตัวด้วยผ้าขาว สายสิญจน์ และดอกไม้จันทน์ก็ตาม ฉันรู้สึกว่าความรักความผูกพันของแม่ลูกนั้นไม่มีความหมายเลยเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจ....

 

ถ้าจะลุกขึ้นมาต้านอำนาจ ก็คงจะเป็นเรื่องคิดการใหญ่เกินไป เจ็บตัวเปล่าๆ... หาทางประนีประนอมยังไงก็ยังเจ็บกันทั้งสองฝ่าย จะลุกขึ้นค้านก็ต้องมีพลังและมีอำนาจเพียงพอที่จะสามารถต่อกรได้

 

คิดไปถึงปรากฏการณ์ละครสะท้านเมืองเมื่อไม่นานมานี้...ละครดอกส้มสีทอง ตัวเอกของเรื่องผัวเยอะ เมาธ์กันเกรียวกราว ผิดกับตอนมงกุฏดอกส้ม เจ้าสัวก็เมียเยอะ แต่ไม่เห็นมีใครหน้าไหนลุกขึ้นเต้นเป็นเจ้าเข้าบอกว่าผิดศีลธรรม ทั้งๆ ที่ก็พฤติกรรมเดียวกัน สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจไม่ต่างกัน ทุกคนที่เข้ามาพัวพันต่างก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน

 

เรากำลังไม่กล้าต้าน "อำนาจ" อะไรบางอย่างที่ฝังรากลึกลงในสังคมไทยหรือเปล่า?

 

นอกจากประเด็นเรื่องเพศ ก็อาจจะนึกไปถึงประเด็นอื่นๆ ...เงิน ชื่อเสียง หรือ "ของแข็ง" ใหญ่ๆ โตๆ ที่กระทบเข้าแล้วเจ็บตัว หลายคนจึงเลือกหลีกเลี่ยงการปะทะ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจะก่อความเสียหายอะไรอย่างไร และยอมที่จะกลืนเลือดรับผลเสียนั้นเอง

 

พระไวยกับวันทองถึงได้มีเรื่องค้างคาใจกันจนอายุของพระไวยร่วงโรยไป...รอจนกว่าอำนาจหมดอายุหรืออำนาจไม่ได้มาเกี่ยวข้องแล้ว ถึงได้มาคุยกันเงียบๆ...

 

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ความรักความผูกพันนั้นเข้าใจกันช้าเกิน ยิ่งเป็นเรื่องแม่ๆ ลูกๆ ยิ่งน่าสะเทือนใจ

 

ความผูกพันของแม่ที่มีต่อลูกยังคงอยู่จนฉากสุดท้าย วันทองปลิดใบบัวสี่กลีบวางไว้รอบตัวพระไวย 4 ทิศ ดูๆ แล้วเหมือนแม่กำลังสร้างสิ่งป้องกันภัย เป็นสิ่งสุดท้ายที่ทิ้งไว้ให้...

 

เสียดายที่น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้จริงๆ...

 

ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของละครชุมชนหลายเรื่องที่โยงใยกับความคิด จิตวิญญาณของท้องถิ่นที่กำลังถูกอำนาจของทุนนิยมบดขยี้ ชวนให้นึกถึงหลากหลายเรื่องราวที่ความยุติธรรมไม่เคยกรายเข้ามาถึง....

 

และชวนให้คิดว่า ในบางสถานการณ์ "การกลับมา" อาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้....


 

IMG_2265_edited.jpg

05 : The Return of Wanthong / KCPK 2011

In oral tradition, where a story is recited for entertainment and passed on by word of mouth, performers constantly adjust the story to give their own slant and to please the audience. When Prince Damrong published a standard edition of KCKP in 1917-18, it froze the sepha version of the story, ending this tradition of constant modification. But, fascinatingly, that only transferred the constant modification into other genres. Novels, plays, films, and skits have continued the tradition. Pradit Prasartthong’s playlet “The Return of Wanthong,” performed in May 2011 at the Jim Thompson Art Center, is firmly in this tradition.
 

Some time in the 19th century, someone composed a sequel to the main story of KCKP in which Wanthong returns from the dead to warn her son, Phra Wai, before a battle. In this sequel, Wanthong returns as a pret or asurakai, a netherworlder, a spirit who has such a burden of bad deeds that she is stranded in a netherworld from where she can make short trips back to this world, appearing as a huge and rather fearsome ghost. Casting Wanthong as such a spirit amounts to a second condemnation, cruelly confirming Wanthong’s reputation as a bad woman.
 

In the scene, Wanthong first appears as an alluringly beautiful young woman, and finally reverts to the form of the fearsome ghost. Perhaps because of these transformations, the scene has long been popular as performance. A play version was written in the late nineteenth century, and there have been several films.
 

Pradit’s version rewrites the scene in order to expunge this second condemnation of Wanthong, and to present her in an altogether different light.
 

The playlet begins in the original scene, with Phra Wai coming upon Wanthong disguised as a beautiful woman in the forest, but with one addition: his opening line, “I have been haunted by the past,” possibly places the whole incident in his imagination. He tries to seduce her; she reveals herself as his mother; and then there is a flashback to the scene of the king condemning her to death for her failure to choose between Khun Chang and Khun Phaen, emphasizing that she cannot choose because each of the men has meaning for her life though in very different ways. Wanthong then reverts to her netherworlder form, and the first act ends.
 

After a musical interlude, the second act seems to begin in exactly the same way, except Wai is no longer a youth but a more mature man. When Wanthong appears, she is dressed not in the shroud of a spirit, but a beautiful outfit suitable for her as mother or angel. She challenges her son to confess what he truly thinks of his mother, whether he agrees with the condemnation of her as a “two-minded woman” or not. Wai of course replies with a standard speech about the burden of motherhood and filial debt.
 

Then, in the most dramatic moment of the play, she challenges him to recall what he said to the king when he went to plead for his mother’s pardon. Wai (played, wonderfully, by Pradit himself at this point) collapses like a puppet whose strings have gone slack. She drags the words out of him:
 

 “Your humble servant’s mother is a very bad woman who has gone astray as a result of excessive carnal desire. Your Majesty has rightly shown her no favor.
 

I beg Your Majesty to pardon her life. Instead of execution, have her thrashed and confined in pitiful circumstances as is appropriate to her improper conduct.”
 

Wai backpedals furiously. He claims extenuating circumstances. He reminds her of the dangers involved in dealing with the king. He points to all the people who depended on him and who might have suffered if he put himself at risk. In reply, Wanthong gives him a lecture on means and ends, on the importance of not sacrificing honesty and principle for short-term gain. She concludes, “We are different; we stand for different traditions,” and she must now leave him for ever.
 

Wanthong’s refusal to accede to the king’s demand to make a choice thus becomes a stand on principle, not “two-minded” confusion.
 

The play is mostly written in klon verse, with perhaps two-thirds of the text cleverly mined from the original sepha. Wanthong’s famous farewell to her flowers in Khun Chang’s house is reworked like her farewell to this world. Wai’s words when parted from his mother as a young child, perhaps the most famous verse in the whole work, is a motif for the whole play:
 

“You love your child and your child knows he’s loved. Among thousands and millions, no one else is the same. You raised and guided me with loving care. I leave home and I leave you, but only in body.”

 

The performances at the Jim Thompson Art Center lasted one hour and had only three actors, two musicians, and a bare set. English subtitles were provided on screens.
 

It was, quite simply, spell-binding. The verse is lovely and beautifully delivered throughout. The music and singing create a mood of enchantment and intimacy.

06 : เมื่อวันทองตาย..ทำไมต้องกลายเป็นเปรต / อภิรักษ์ ชัยปัยหา 2011 

แม่รักลูก..ลูกก็รู้อยู่ว่ารัก

คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน…จะกินนอนวอนว่าเมตตาตื่น…จะจากเรือนร้างแม่..ไปแต่ตัว

ใคร ๆ ก็รักวรรคทองบทนี้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”…รวมทั้งผมด้วย

 

วรรคทองที่ว่า มาจากตอนที่สองแม่-ลูก วันทองกับพลายงามต้องจากกัน  เพราะขุนช้างรู้แล้วว่าพลายงามไม่ใช่ลูกของตน (รู้ช้าจัง  แค่ชื่อ “พลาย” ก็น่าจะรู้แล้วว่า ลูกของพลายแก้ว หรือ ขุนแผน” ) เลยลวงไปฆ่าทิ้งเสียในป่า..เดชะบุญโหงพราย ไปเตือนนางวันทองให้รู้  และมาช่วยบังเอาไว้  พลายงามเลยรอดมาได้   โดนที่ขุนช้างไม่รู้ นางวันทองตัดสินใจให้ลูกหนีไปอยู่กับนางทองประศรีแม่ของขุนแผน (ขุนแผนติดคุกอยู่)  โดยต้องเดินเท้าข้ามจังหวัดไปกาญจนบุรีเพียงลำพังทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเด็กชาย….และนั่นคือที่มาของฉากสะเทือนอารมณ์ที่สุดอีกฉากหนึ่งของเสภาบทนี้ และเป็นที่มาของวรรคทองข้างต้น
 

นอกจากความรักสามเส้า ของขุนช้าง ขุนแผน และ นางวันทองแล้ว   ความรักของนางวันทองกับลูกชายคนเดียวของเธอก็เป็นอีกเส้นเรื่องสำคัญของเสภาเรื่องนี้ ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้อ่านหรือฟัง  ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนแรก ได้จับเอาเรื่องราวของ พลายงาม ที่ต่อมาเติบโตเป็นทหารกล้าชื่อ จมื่นไวยวรนาท ที่ได้มาพบกันครั้งสุดท้ายกับแม่ของตนเอง  หลังจากที่เธอโดนตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว และนำมาเป็นเนื้อเรื่องหลักของละครร่วมสมัยเรื่องนี้   ใช่ครับคุณอ่านไม่ผิดหรอก…วันทองตายแล้วตอนที่มาพบพระไวยฯ ครั้งสุดท้าย

 

ในต้นฉบับของขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งชำระโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้กล่าวว่า นางวันทอง หลังจากตายไปแล้ว ก็ไม่ยอมไปไหน แต่กลายเป็นเปรต  และครั้งสุดท้ายที่นางมาพบลูกชาย ก็เพราะห่วงที่ลูกชายกำลังจะไปรบตามคำสั่งของพระพันวษา เลยมาห้ามทัพไว้


ในเวอร์ชั่นละคร  ซึ่งใช้เพียงเวทีที่ยกพื้นทรงสี่เหลี่ยมตรงกลาง  คนดูนั่งรายล้อม  และใช้นักแสดงเพียงสามคน แต่เล่น 4 บทบาท คือ คือ จมื่นไวยฯในวันหนุ่ม (สุขุมพันธ์  ธิติพันธ์)  จมื่นไวย ฯ ในอีก 25 ปี ต่อมา (ประดิษฐ ประสาททอง)  พระพันวษาและ นางวันทอง (สองบทหลังแสดงโดย ดวงใจ หิรัญศรี)  กับการเล่นดนตรีสดผสานกับดนตรีแห้ง  ได้สร้างเรื่องราวต่อจากเหตุการณ์ในเสภา  ว่าหลังจากพบกันครั้งนั้น  พระไวยก็เต็มไปด้วยความทุกข์  เพราะกังวลที่แม่เป็นเปรต (ครั้งแรกเขาพบเธอในฐานะนางฟ้า พอรู้ว่าเป็นแม่ของตน นางก็กลายเป็นเปรต)  เขาคิดว่าที่แม่ไม่ไปไหน เพราะแม่ไม่ให้อภัยตนเองที่กลับมาช่วยชีวิตแม่ไว้ไม่ทัน

 

ท่ามกลางบทสนทนาที่ใช้ภาษาระดับวรรณศิลป์ สลับกับการขับร้องเพลงไทยเดิมอันแสนไพเราะ ละครพยายามให้วันทองบอกลูกชายว่า การที่เธอถูกคนอื่น ๆ มองว่าเป็น “เปรต” นั้น ไม่สำคัญมากเท่ากับที่ลูกชายคนเดียวของนางก็เห็นว่าเธอเป็น “เปรต” ด้วย   ซึ่งจมื่นไวย ฯ ก็แย้งว่า เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ก็เพราะ “ค่านิยม”  และ “ขนบ” ที่ตนยึดถือ

 

นางวันทอง ไม่ได้โกรธลูกชายที่กลับมาช่วยแม่ไม่ทัน  แต่นางวันทองแค่อยากรู้ว่า ลูกของเธอเห็นว่าแม่ของตัว “เลวร้ายเป็นอสูรกาย” เช่นเดียวกับที่ พระพันวษาว่าไว้ จนคนอื่นๆ  ต่างก็พลอยเห็นด้วยกันไปหมดหรือไม่…เมื่อลูกชาย ตอบถ้อยสุนทรที่ผมยกมาไว้ตอนต้น  นางวันทองก็ถึงกับบอกว่า “ไปจำใครเขามา” และขอให้จมื่นไวย ฯ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ไปทูลขอชีวิตให้นางวันทองกับพระพันวษานั้น เขาพูดถึงนางว่าอย่างไร….แน่นอน พระไวยบอกว่าแม่ตัวเองเลวอย่างที่ใคร ๆ เขาว่ากัน

 

จากประเด็นนี้ นับว่าเป็นมุมมองที่ฉลาดมากของประดิษฐ   เพราะเขาใช้เรื่องราวของสองแม่ลูกนี้ วิพากษ์สังคมไทยทั้งระบบ ได้อย่างแยบยล  การเลือกให้นักแสดงหญิงที่เล่นเป็นนางวันทอง และกำหนดให้เป็นผู้เล่าเรื่องราวของพระพันวษาด้วย นับเป็นการยั่วล้อและเสียดเย้ยความยอกย้อนของสังคมแบบไทย ๆ ได้อย่างเจ็บแสบ  (ซึ่ง ดวงใจ นางเอกคู่บุญของประดิษฐ ก็ฝากฝีมือไว้อย่างมีพลัง  ตอนเธอเป็นวันทองก็ว่าสวยดีแล้ว  แต่ตอนเล่นเป็นพระพันวรรษานั้น แม้จะเล่นแบบตัดอารมณ์แต่กลับให้มิติที่สะเทือนใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง)

 

ละครจบลงด้วยฉากที่จมื่นไวย ฯ ส่งดอกบัวไหว้ขอขมาผีแม่วันทอง และกล่าวว่าตนนั้นทำได้เพียงเท่านี้  คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่อะไรได้ เพราะต้องมีภาระมีครอบครัวที่ต้องดูแล…นางวันทอง จึงจำลา…และเด็ดกลีบของดอกบัวสี่กลีบวางไว้ในสี่ทิศรอบตัวจมื่นไวยฯ   ในสายตาของผู้ชมเรารู้ว่านางวันทองจากไปอย่างไม่สงบแน่ๆ  และเราก็อดลุ้นไม่ได้ว่า จมื่นไวย ฯ จะสามารถข้ามพ้น “มายาคติ” ที่ครอบงำเขาไปสู่แสงสว่างทางปัญญาได้ ในวันหนึ่ง

 

ละครหลาย ๆ เรื่องของประดิษฐ  เขามักกำหนดให้ตัวละคร “แม่” ทวงถาม “ความกล้า” จากลูก โดยเฉพาะลูกชาย   ซึ่งลูกชาย ในละครของประดิษฐ มักจะอยู่ในสถานะของ “ผู้กล้า”  เป็น “วีรบุรุษ”  ในสายตาคนอื่น  แต่สำหรับตัวละคร “แม่” ของประดิษฐแล้ว ลูกชายเหล่านั้นกลับเป็นเพียงแค่คน “ขลาด”  ที่จะลุกขึ้นมาฝืนขนบที่พวกเขาต่างก็รู้ว่า “ไม่ถูกต้อง” และยอมตัวเป็นทาสและปรับตัวเองให้รู้สึกว่าขนบที่ผิดเพี้ยนนั้น เป็นเรื่อง “ปกติ” ที่ใคร ๆ ต่างก็ยึดถือ  ดังจะเห็นได้จากตัวละคร “สุดปรารถนา”  จากละครเรื่อง นายซวยตลอดศก   ตัวละคร  สส. สุด  (เช่นกัน) จากเรื่อง รถไฟฟ้ามาหาอะไร  และอีกครั้งกับ จมื่นไวยฯ   ในการกลับมาของวันทอง

 

ความโดดเด่นของละครเรื่องนี้คือรากทาง “วรรณศิลป์” ของประดิษฐที่แข็งแรงมาก  และรากทางขนบในการ

 

”ใช้เพลง” ไทยเดิมมาปรับลูกเอื้อนลูกผสานในแบบการร้องเพลงสมัยใหม่  จึงอาจกล่าวได้ว่าละครร่วมสมัยของเขานั้น

 

“มีราก” แน่นอนสองสิ่งนี้กลายเป็นอาวุธสำคัญของเขาในฐานะศิลปินร่วมสมัย  โดยรวมแล้วผมชอบเลยเรื่องนี้  แต่จะรู้สึกสะดุดกับละครองค์สุดท้ายนิดหน่อย ที่จู่ ๆ ละครก็เปลี่ยนวิธีเล่น ทำให้ละครที่กลมมาตลอด แบนไปอย่างน่าเสียดาย

 

การที่ประดิษฐฉีก “กลอนเสภา” เดิมแล้วแต่งของตัวเองเข้าไปปะปน และ ฉีกขนบการใช้ “เพลงไทยเดิม” แบบนี้ นับเป็นการวิวัฒน์และสอดรับกับ “สาร” ที่เขาต้องการส่งไปถึงบรรดา “ลูกชาย” ของ “แม่วันทอง” ทั้งหลายให้หารกล้าเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ก้าวหน้า   ในมุมมองนี้ น่าสนใจว่า  หากจมื่นไวย ฯ ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงอย่างรักษารากเหง้าไว้แบบที่ประดิษฐใช้ในการเล่าเรื่องเช่นนี้  อาจจะเป็นอีก “มรรค” วิถีที่จมื่นไวยฯ อาจทำให้แม่วันทองสู่สุขคติได้อย่างแท้จริง

TLAS05.jpg

07 : เมื่อเปรตวันทอง...ท้าทายศรัทธาและทวงถามความจริง / Joe Pluemjit 2018

เมื่อเปรตวันทอง...ท้าทายศรัทธาและทวงถามความจริง
 

ไปดูละครโรงเล็ก thonglor art space ชมผลงานกำกับละคร The return of wanthong ของพี่ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง เล่าเรื่องราวในป่าลึก...ที่พระไวยผู้เป็นแม่ทัพในภาวะผู้นำ ได้พบกับความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ ‘เดินทางด้านใน’ ค้นหาตัวตนที่แท้ที่แม่ทวงถาม 
 

ระหว่าง ‘การยอมตามเอาตัวรอด’ กับ ‘เผชิญหน้ากับสัจจะความจริง’ เขาเลือกข้างไหน 

คนอย่างวันทอง...ที่ถูกโลกตีตราว่า “สองใจ” แต่เป็นคนเดียวที่ยืนหยัดชัดเจนในสัจจะไปชั่วนิรันดร์ นางบอกว่า “เวลาอาจเปลี่ยนทุกสิ่งได้ แต่สัจจะในใจยังคงอยู่” และยังได้ท้าทายลูกที่ยังอยู่ในโลกที่ยังไม่เปลี่ยนศรัทธาตัวเองว่า ...“คำว่าผู้กล้าจะพร่าเลือน คำว่าเสียสละจะมัวหมอง คำว่าผิดกลายเป็นชอบจะครอบครอง สัจจะจะเป็นรองชั่วนิรันดร์”
 

นอกจากเพลงเพราะ บทประพันธ์ดีเยี่ยม การแสดงที่มากด้วยประสบการณ์ในแนวทางร่วมสมัยที่ชัดเจนแล้ว ยังหยิบเรื่องยากให้เราได้ขบคิด!
 

นึกสนุกตีความต่อว่า...เมื่อตัวตนเราหล่อหลอมมาถึงจุดหนึ่ง เรื่องราวของตัวตนในอดีต จะปะทะกับตัวตนปัจจุบัน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวตนในอนาคต เช่น พระไวยวัยหนุ่ม...แม้ว่าสร้างกรรมดีเพื่อชาติบ้านเมืองเพียงใด แต่กรรมในใจด้านความสัมพันธ์กับแม่ยังฝังจำ 

แม่ที่ต้องตายไปเป็นเปรตด้วยเหตุส่วนหนึ่งจากการตัดสินภายในของตน เปรตนางวันทอง คือ เปรตแห่ง ‘ความหลง’ ในจิตใจของพระไวยนั่นเอง
 

เพื่อล้างบาปนั้น พระไวยที่รู้สึกผิดบาปต่อแม่เดินทางเข้าป่าลึกเพื่อขออโหสิกรรมกับแม่ หวังว่าจะทำให้ปมในใจได้คลี่คลาย แต่นางวันทองไม่ได้ปรากฏ เปรตในใจของพระไวยต่างหากที่เกิดขึ้นและต้องการท้าทายให้พระไวยก้าวข้ามขอบของตัวตน ไปสู่ตัวตนใหม่ที่ถือสัจจะเป็นหนึ่ง
 

ชอบตรงที่ในตอนท้ายของละครสะท้อนอย่างย้อนแย้ง...ว่า พระไวยยังยึดอยู่กับตัวตนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ยอมรับความจริง แท้จริงแล้วใครกันที่ยังเป็นเปรต เหมือนบทละครกำลังชี้หน้ามายัง “คนดู” ถ้าพระไวยแทนคนในสังคม ยิ่งถ้าเป็นผู้นำด้วยแล้ว “จะศรัทธาต่อความจริงหรือไม่?”
 

ยังเป็นคำถาม ที่เราต้องหาคำตอบกันต่อไป!

08 : ละครเวทีที่วิพากษ์โลกทัศน์ความเป็นไทย / Pitirach Joochoy 2018

- วันทอง : The Return of Wanthong 2018 - 

ประดิษฐ ประสาททอง / ดวงใจ หิรัญศรี / วิศรุต หิมรัตน์

ละครเวทีที่วิพากษ์โลกทัศน์ความเป็นไทยที่สะท้อนลงไปถึงความเป็นมนุษย์ และตั้งคำถามต่อความดำรงอยู่และไม่เคยดำรงอยู่ของชีวิตได้อย่างน่างดงาม ชวนคิดตาม ชวนปวดหัว และชวนช่างแม่ง !

 

ละครได้หยิบยกเนื้อหาของขุนช้างขุนแผน วรรณกรรมที่ถูกยำโดยทุกชนชั้นตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงราชสำนัก แต่งไปแต่งมาต่อเนื่องกันจากมือสู่มือ จากศิลปินผู้รังสรรค์จรรโลงใจไปถึงชนชั้นปกครองที่ใช้เพื่อผดุงอำนาจและค่านิยมที่จะใช้เป็นวิถีทางควบบ้านคุมเมือง โดยหยิบยกเรื่องราวระหว่าง "จมื่นไวย" ไปทัพและพบกับวิญญาณนาง "วันทอง" ที่แปลงมาเป็นสาวงามห้ามทัพ แต่เกือบถูกจับปล้ำทำเมียเสียจนต้องสำแดงร่างว่าคือแม่วันทอง มาขอร้องให้ลูกจงระวัง ก่อนกลับร้ายกลายหลังเป็นเปรต อสุรกายน่าสังเวชใจ
 

ให้เราได้ตั้งคำถามแต่แรกว่า ค่านิยมใดถึงทำให้วันทองต้องแปลงเป็นสาวงามมาห้ามลูก (วะ ?) และเหตุไฉนวันทองซึ่งถูกกระทำเสมือนวัตถุ ยื้อยุดผลุดผลัดจากมือคนนั้นทีคนนี้ที ให้เปรียบเสมือนย้ายกรงซ้ายบ่ายไปกรงขวา ซ้ำก้มหน้ารับคำครหา ด้วยค่านิยมสังคมที่กดขี่ความรู้สึก มิให้แม้แต่คิดที่จะเลือกให้ตัวไปอยู่กับใคร เพราะความรู้สึกในใจนั้นฉันก็เป็นมนุษย์ที่รู้สึกไม่อยากตกไปอยู่กรงใด ซ้ำยังกระอักกระอ่วนใจว่าทำไมฉันจะต้องมานั่งเลือก กลับกลายถูกตราว่าเป็นหญิงชั่ว เอ้า ! ก็ถามความรู้สึกฉันกระนั้น พอตอบตามสัตย์ ก็เอาค่านิยมมาข่มแหงให้ถึงตายกันไปเสียนี่
 

การตีความละครเวทีในครั้งนี้สำหรับเรา จึงเป็นการเข้าไปสัมผัสความจงใจของผู้สร้างที่จะบอกเล่าปัญหาปัจจุบันด้วยวรรณกรรมจากอดีต เล่าปัญหาค่านิยมในวันนี้ ด้วยค่านิยมของวันก่อน และสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ก่อสงครามสะหว่างสองโลกทัศน์มาทุกยุคทุกสมัย และยิ่งไปกว่านั้น ผู้สร้างไม่เลือกให้วันทองผู้ถูกตราหน้าว่าสองใจนั้น ต้อน Return มาเจอผัวคนไหน แต่จัดหนักให้มาเจอลูก เรียกว่าขยี้กันให้สุดปมความเป็นมนุษย์ จะหักล้างห้ำหั่นกันซึ่งหน้าประดามี ลูกกับแม่นี้แหละคือความอาทรและอนาทรที่เจ็บปวดที่สุด 
 

เรื่องเล่าเหตุการณ์หลังจากการกลายร่างเป็นเปรตจากไปของนางวันทองผ่านไปนับสิบๆ ปี เมื่อ "จมื่นไวย" กลายเป็น "พระไวย" เดินทางกลับไปที่ป่านั้นอีกครั้ง เพื่อตั้งใจจะทำให้วิญญาณ "นางวันทอง" มารดานั้นให้อภัยพระไวย และให้มารดานั้นได้เดินทางไปสู่ภพภูมิหน้า ซึ่งคาดว่านางวันทองนั้นคงจะเก็บแต้มบุญกันไป แล้วได้ถึงจุดที่จะไปเกิดหรือไม่ก็สุดแท้แต่ใจของนาง แต่วันทองก็ยังเลือกอยู่ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด
 

แต่สิ่งที่น่าสนใจ นี่คือการกลับมาของพระไวยนี่สิ พระไวยกลับมาด้วยความหวังที่จะปลดปล่อยแม่ อยากให้แม่สบายใจ แต่จบลงด้วยความรู้สึกว่า

"...ใครกันแน่ที่ต้องการได้รับการปลอดปล่อย ?..."

 

เมื่อพระไวยนั้นขอให้แม่อภัยแก่ตนด้วยเหตุที่ทำให้แม่ต้องตาย ช่วยแม่ไม่ได้ แต่ถูกแม่ถามกลับว่า แล้วตอนไปเฝ้าพระพันวสาเล่า เจ้ากราบทูลความไปตามใด ? รับสั่งให้ตัดแม่ตัดลูกนั้น ตัดได้ไฉนหรือ ? 
 

แล้วละครก็ยกตอนจมื่นไวยขอไถ่โทษแม่มาตบหน้า วันทองนั้นต้องม้วยมรณ์ด้วยไม่อาทรที่จะต้องทูลความไปตามตรงในหัวใจ ว่าไม่รู้จะเลือกใครเพราะรักและผูกพันทั้งสิ้น สุดท้ายเธอถูกอำนาจยิ่งใหญ่ผู้เป็นเจ้าของ "ชีวีฝากไว้ใต้บาทา"  เหยียบขยี้ด้วยเห็นมิชอบต่อค่านิยมที่อำนาจนั้นกำหนดให้เป็นไป ในขณะเดียวกัน จมื่นไวยนั้น ทูลขอพระอาญา ด้วยรู้เต็มอกว่าแม่นั้นไม่ผิด แต่ความรักตัวกลัวตายถวาย "ชีวีฝากไว้ใต้บาทา" ยอมโอนอ่อนกล่าวหามารดาตนว่าเป็นคนจัญไร เป็นหญิงไร้จรรยา เพื่อลู่ลมขอให้เธอพ้นพระอาญาโดยด้วยดี 
 

เราล่ะ ?

เราผู้ซึ่งนั่งมองความเป็นไปของทุกสิ่ง ? เราเป็นคนเช่นไร ? สิ่งใดคือสิ่งชอบ ? ประพฤติตอบตามสัตย์แม้ตัวตาย ? หรือจะไปสู่จุดหมายและความผาสุกได้โดยละความจริงบางประการ ? เหตุไฉน ใยกัน เราถึงต้องมานั่งตั้งคำถามนี้เล่า ?

 

บ้าไปแล้ว นี่ละครเรื่องนี้กำลังตบหน้าเราด้วยความเลวทรามของ "อำนาจนิยม" และค่านิยมการตีความ "คุณธรรม" คุณธรรมนั้นหักเหได้หรือ ? ความจริงนั้นบิดเบี้ยวได้อย่างไรเล่า ? เราอยู่ในโลกที่ผุพังแหลกสลายนี้ได้อย่างไรกัน ? ถ้าไม่ใช้อำนาจนิยมนั้นรวมตึงเส้นตรงของคุณธรรมและความจริงจนโค้งงอต่อสาน กลายกลับเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า "โลก" หดหู่ แหลกสลาย ด่าวดิ้น แต่สวยงามเหลือเกิน

สวยงามเมื่อได้รู้ความจริงของโลกนี้ว่า รบราฆ่าฟันกันทั้งสองความคิดเหมือนวันทองและจมื่นไวย จะได้สิ่งไรเกิดขึ้นมา สวยงามเหมือนกรงขังกลีบบัว 8 กลีบ นัยยะแห่ง มรรค 8 หนทางแห่งความหลุดพ้นที่วันทองเลือกเด็ดทิ้งไว้เบื้องหลัง เป็นกรงขัง แทนที่จะเป็นทางออกอย่างที่ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าไว้สำหรับจมื่นไวย แต่เป็นหนทางจากไปตลอดกาลของวันทอง วันทองไม่ได้หลุดพ้นเพราะเธอให้อภัยพระไวยแต่อย่างใดเลย ไม่เลย... เธอจากไปสู่โลกหน้า เพราะว่าเธอไม่มีสิ่งใดให้ห่วงหาในโลกนี้อีกแล้ว จมื่นไวย... พ่อพลายงามของแม่...ไม่มีอีกแล้ว...
 

ดังนั้นในเนื้องเรื่องที่ชวนอึดอัดใจไม่มีพักครึ่งตลอด 80 นาที ตรงหน้านั้น หากไม่ได้อาศัยการคิดและตีความและนำเสนอ อย่างมีสุทรียะแล้ว มันก็คือศูนย์ แต่ด้วยนักแสดงทั้งสามท่านนั้น แม้ทั้งเรื่องจะหักขนบของละครเวทีที่เอาฮาป่าช้าแตกอย่างกินง่าย แต่พวกเขากลับเลือกจ่ายยาอมยาขมอย่างรสอย่างไทย ที่บดเครื่องยาสมุนไพรสารพัดให้ย่อยยิบแล้วผสมน้ำผึ้งหวาน ปั้นก้อนพอดีคำ นำมาให้ผู้ชมของพวกเขา
 

ทำให้เรารักในการแสดงรับส่งที่เหมือนต่างคนต่างควงกระบองไฟกลิ่นมะลิใส่กันของพี่เพียว - ดวงใจ หิรัญศรี ซึ่งผลงานพี่เพียวที่เรารักในความเล่นลึกของผู้หญิงคนนี้คือ "อนธการ" ด้วยบท "แม่ตั้ม" ตัวละครที่เป็นความรู้สึกเดียวกับการสำลักน้ำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น (อยากรู้ว่าเป็นไง ไปดูได้เลย) และพี่ตั้ว - ประดิษฐ ประสาททอง ที่เราคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ เสริมด้วยโมสต์ - วิศรุต หิมรัตน์ ที่เลือกมาฝึกฝนการแสดงกับพี่ๆ ตัวแม่ตัวครูทั้งสองท่าน ทำให้เราเห็นพัฒนาการและความลึกของเขาไปได้อีกมาก 
 

นักแสดงแม้แต่ทีมร้องทุกคนเล่นกันทั้งร่าง ทั้งเรื่อง ดูแล้วรู้เลยว่าใช้ทุกมัดกล้ามเนื้อขยี้ตีแผ่ขยายความเป็นตัวละครของตัวเองออกมาจนไม่เห็นภาพเดิม พระไวยผู้ขอขมามารดา แต่มิเคยเลยแม้จะกล้าสบตาเธอตรงๆ วันทองผู้เฝ้าหาคำตอบตรงหน้า สายตาที่เจ็บปวดอาวรณ์ รวดร้าว แหลกสลาย ที่พร่ำเรียกกึกก้องกังวาลให้อีกฝ่ายได้ยิน กระเพื่อมระรื้นรินเป็นน้ำนัยน์ตาที่มากกว่าสายตาทั่วไป แต่ทุกข์ทนข่มขื่นใจจนมันตกในไม่ไหลออกมา สรรพางร่างกายของจมื่นไวยในวัยหนุ่ม ที่กลัดกลุ้มบีบคั้นเกรงพระอาญาระริกลั่นประหนึ่งอาญาหวายลงกลางหลัง ยอมใจนักแสดงที่เล่นกันขนาดนี้ ทั้งเรื่องไม่มีมุกตลกโปกฮาใดๆ แต่พาเราไปจนสุดทาง เสียงประสานและดนตรีสดที่กระตุ้นหัวใจเราตลอดเวลา
 

กระเทาะเกาะตะกอนกลั่นที่เกาะกุมหัวใจมี่เต้นอ่อนแรงของเราให้รู้สึกรัก ขื่นขม และมีพลังที่จะเจ็บปวดต่อไป ผ่านบทร้อง ทำนอง ดนตรี ประสาทสอดรับ สวยงาม พลิ้วไหว และแสนเศร้า...

ขอบคุณเหลือเกินวันทอง ของคุณที่เธอกลับมา...ทำให้เราระรื้นลั่นหลังน้ำตาในใจ กับการจากไปไม่มีวันกลับของเธอ

09 : หากเราเป็นนางวันทองจะตัดสินใจเลือกใคร / Chiraporn Siridhara 2018

วันทอง” The Return of Wanthong 2018 แสดงที่ทองหล่ออาร์ตสเปซ เป็นละครร้อง ทั้งแบบไทยเดิม ประสานเสียง ขับเสภา และหลายแบบ ซึ่งเราที่ไม่ใช่นักเพลงเรียกไม่ถูก แต่ไม่อยากเรียก musical play ขอเรียกว่าละครร้องร่วมสมัย ที่จับตอนมาจากวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน เขียนบทและกำกับโดยพี่ตั้ว - ประดิษฐ์ ประสาททอง ศิลปาธรปี 2547
 

เมื่ออาจารย์โต - ทรงพันธ์ ส่งข่าวละครเรื่องนี้มา ก็ไม่รีรอที่จะไปดู เพราะถูกจริตกับละครแนวนี้ แม้จะนึกหวั่นๆ อยู่กับเปรตนางวันทองที่กลัวมาตั้งแต่เด็กๆ
 

ละคร "วันทอง The Return of Wanthong 2018" เหมือนเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจับตอนมาจากขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองห้ามทัพพระไวยจะไปรบกับขุนแผน ซึ่งตอนนี้เป็นไปตามเนื้อเรื่องในเสภา ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่เคยสนใจตัวละครนางวันทองเลย มัวแต่ไปสนุกกับเรื่องการผจญภัยของขุนแผนและลูกๆ เห็นนางพิมพิลาไลยเป็น "วันทอง" ในความหมายที่สังคมมักจะใช้เวลาเรียกผู้หญิงอย่างเหยียดๆ เป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งที่เป็นรักสามเส้าระหว่างขุนช้างขุนแผน
 

แต่ตอนที่ดูละครเรื่องนี้ บทและนักแสดงทำให้เรากลับมานึกว่าหากเราเป็นนางวันทองจะตัดสินใจเลือกใครระหว่างขุนช้าง ที่รักใคร่อาทรสารพัดสารพันจะดูแล (มีไม่ดีตรงที่จะฆ่าพระไวยตอนยังเป็นเด็ก กับเจ้าเล่ห์เจ้ากล) หรือขุนแผนรักแรกที่อยู่กินไม่นาน ความรัก ความหวามน่าจะยังคงมีอยู่ (คุณพี่ก็เจ้าชู้เหลือเกิน) แต่มาถึงวันที่ต้องเลือก วันทองก็อายุมากขนาดนี้แล้ว ขุนแผนจะยังรักอยู่หรือ หรือจะแค่อยากเอาชนะขุนช้าง หรือไปอยู่กับพระไวย ลูกชายที่เลี้ยงดูมาไม่กี่ปี ไม่รู้จักใจคอกันเลย หรือจะเลือกไม่ไปกับใครเลยดี ในบริบทของผู้หญิงแบบวันทองซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงสวยยุคนั้น (ซึ่งต่างจากนางทองประศรีโดยสิ้นเชิง) จะคิดอะไรได้ทันกับที่พระพันวสาคาดคั้น ไหนจะน้ำท่วมปากเลือกใครก็เสียทั้งนั้น จะไม่ไปกับใครก็อยู่ไม่ได้อีก เพราะถูกเลี้ยงมาแบบนกน้อยในกรงทองมาตลอด
 

ส่วนช่วงหลังเป็นตอนพระไวยฯ ที่ยังมีความทุกข์ใจที่แม่ยังไม่ไปเกิดคิดว่าเป็นเพราะโกรธที่ไปช่วยจากประหารชีวิตไม่ทัน เนื้อหาตอนนี้ขอนับถือพี่ตั้วมาก ทำบทได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะใช้การชำระความในใจของแม่-ลูก วิพากษ์ความเป็นไปของบริบทสังคมไทยได้อย่างเนียนๆ บริบทของสังคมที่ใช้คำว่า "อยู่เป็น" เพื่อความอยู่รอดโดยไม่ได้ดูว่าถูกต้องหรือไม่ หรือทำร้ายใคร และเห็นว่าการ “อยู่เป็น” หรือ “ผิดกลายเป็นชอบ”  เป็นเรื่องปกติธรรมดา คนที่เป็น “ผู้กล้า” ฝืนสิ่งที่ไม่ถูกต้อง “สัจจะ” หรือความถูกต้องกลับพ่ายแพ้การเอาตัวรอด คนที่อยู่ไม่เป็นกลายเป็นคนไร้ซึ่งกลยุทธ์ต่างต่างนานา
 

บทตอนนี้ พระไวยตามมาหาแม่วันทองในป่า เพื่อชำระความรู้สึกผิดในใจตัวเอง แต่กลับโดนแม่ถามว่า เห็นว่าแม่เลวร้ายเหมือนที่พระพันวสาตัดสินซึ่งใครๆ ก็พลอยพยักไปด้วยหรือเปล่า พระไวยตอบแม่ว่าเพื่อความอยู่รอด กลัว "อาญาสิทธิ์" ก็ตามน้ำเห็นแม่เลวร้ายไป ซึ่งตอนที่นางวันทองกรีดร้องและบริภาษพระไวยว่าเป็นเพียงแค่ “คนขลาด” ที่จะต่อต้านความไม่ถูกต้อง ไม่เหมือนพ่อขุนแผนที่ “ยอมหัก ไม่ยอมงอ” ในเรื่องที่ถูกต้อง เรารู้สึกสะเทือนเข้าไปในอกในใจจนตัวสั่น เพราะเหมือนถูกคำถามของวันทองมาถามตัวเองว่าเราเป็นเช่นนั้นด้วยหรือเปล่า ได้ใส่ร้าย รังแก หรือเพิกเฉยกับคนที่โดนความอยุติธรรมบ้างหรือเปล่า ไม่ยืนหยัดให้กับสิ่งที่ถูกต้องบ้างหรือเปล่า เพียงเพื่อ “ความอยู่รอด” เท่านั้น รวมทั้งเราก็เคยโดน “ความอยู่เป็น” ของบางคนให้เสียใจและเสื่อมศรัทธามาแล้ว
 

ละครจบตอนที่พระไวยส่งดอกบัวไหว้ขอขมาผีแม่วันทอง และว่าคงทำได้เพียงเท่านี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้เพราะต้องมีภาระที่ต้องดูแล ยังคงเป็น “คนขลาด” และยอมบอกตัวเองว่า “เรื่องที่ผิดเพี้ยนเป็นเรื่องปกติ” ส่วนวันทองก็ไปสวรรค์พร้อมกับปล่อยลูกไว้กับคำถามที่เป็นคำสอนสุดท้ายของแม่
 

นอกจากบทและคำร้องต่างๆ ดีมาก กระแทกใจแล้ว แน่นอนตัวแสดงอย่างพี่ตั้ว – ประดิษฐ์ ไม่ต้องพูดถึงทั้งการร้อง การแสดง เหมือนเป็นคนที่อยากจะชำระความในใจจริงๆ ชอบตอนที่พูด / เถียงกับแม่วันทอง พระไวยไม่มองหน้าแม่เลย หลบตาหลบหน้าตลอด รู้ว่าผิดก็ยังเถียงแต่ไม่กล้าสู้หน้า เสียงของพระไวยก็แสนจะทุกข์ทรมานใจ จนท้ายที่สุดไม่รู้จะทำยังไง ยื่นดอกบัวส่งให้แม่ดื้อๆ บอกว่าแม่ไปสวรรค์ซะเหอะ แหม่...ถ้าเป็นแม่วันทองจะเอาดอกบัวฟาดซะทีนึง
 

ส่วนนางวันทอง เราไม่รู้จัก แต่เธอสุดยอดมาก ทั้งสุ้มเสียงทั้งการแสดง keep look สวยได้ตลอด ตอนเป็นสาวมาหลอกพระไวยไม่ให้ไปทัพ ก็ยังเป็นแม่ที่ห่วงลูกที่กำลังห้าว ที่ขำคือพยายามดัดเสียง ทำท่าทางให้เป็นสาวแต่ก็อดไม่ได้ที่เผลอดุลูกตามประสาแม่ ส่วนตอนที่พระไวยตามมาหาแม่ตอนหลัง เรารู้สึกว่าวันทองพูดกับพระไวยแบบผู้ใหญ่พูดกับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะแล้ว ทั้งสุ้มเสียงทั้งท่าทาง สรุปชอบเธอมาก
 

สำหรับน้องโมสต์ที่แสดงเป็นพระไวยตอนหนุ่ม แสดงได้เก่งมาก ลืม ”ไอ้จ้อย” หนุ่มน้อยที่วิ่งตามพี่หมื่นในบุพเพสันนิวาสไปเลย เล่นบทเจ้าชู้ยักษ์ได้ “หื่น” มาก จนเรารู้สึกว่า ในส่วนลึกแล้วผู้ชายมีความกดขี่ผู้หญิง เห็นผู้หญิงเป็นรอง นึกจะทำอะไรก็ได้ ไม่ได้มีความเท่ากัน 
 

สิ่งที่ชอบอีกเรื่องแสง เสียง และการใช้เวที ละครเรื่องนี้ไม่มี props ยกเว้นสไบกับดอกบัว แต่ใช้แสงบอกเล่าเรื่องต่างๆ รวมทั้งนักร้องเพลงประกอบ ซึ่งร้องเพลงเพราะมาก
 

พอดูจบผู้ชมอย่างเรากลับรู้สึกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของพระไวยที่อยากหาคำตอบ หาเหตุผลให้กับตัวเองในการทำเรื่องที่ “ผิดกลายเป็นชอบ” เหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม ยอมตามๆ กันไป อาจด้วยเพราะเกรงกลัว “อาญาสิทธิ์” หรือเพราะบอกตัวเองว่า “มีภาระที่ต้องดูแล รับผิดชอบ” หรือ “ไม่ใช่เรื่องของเรา”
 

และเมื่อออกจากโรงจนถึงตอนนี้ เรายังนั่งถามตัวเอง 2 เรื่อง

1) วันนี้เราสามารถให้คำตอบของชีวิตในบางเรื่อง ตามที่ใจต้องการหรือเปล่า เหมือนนางวันทองที่ต้องตัดสินใจชีวิตของตัวเองแท้ ๆ แต่กลับไม่กล้า ไม่กล้าคิด ไม่กล้าออกจาก “comfort zone” แต่ปล่อยให้เวลาหรือคนอื่นมาตัดสินเพียงเพราะ “ไม่กล้า”
 

2) เราเองจะยอมเป็นเหมือนพระไวยหรือเปล่า ที่คงทำได้เพียงเท่านี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และยอมบอกตัวเองว่า “เรื่องที่ผิดเพี้ยนเป็นเรื่องปกติ” แม้ว่าตัวเราจะเคยเจ็บปวดมาแล้ว เพียงเพราะเรา “ขลาด” และ “แก้ตัว” ว่าเพียงคนเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ สู้ “อยู่เป็น” ดีกว่า สังคมนี้ไม่ใช่เราเพียงคนเดียว
 

ขอบคุณ อ.โต ที่ส่งข่าวดูละครดีๆ แบบนี้ 

เราคงจะเป็น FC ของกลุ่มละครอนัตตา เหมือนกับเป็น Fc กลุ่มมะขามป้อมในอดีต 

และทำให้ความฝันที่จะเล่นละครเวทีได้ Return มาอีกครั้ง

TLAS016_edited_edited.jpg

10ละครร้องร่วมสมัยแนวผสมผสานข้ามขนบ "วันทอง"/ สุกัญญา สมไพบูลย์  2018

ละครร้องร่วมสมัยแนวผสมผสานข้ามขนบ”วันทอง” The Return of Wanthong 2018

เป็นการรวมตัวกันของสุดยอดนักแสดง นักร้อง นักดนตรี นักแสง เสียง ของวงการละคร

ลายเซ็นของประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธร และผู้กำกับผู้ก่อตั้ง Anatta Theatre ชัดเจนและงดงามยิ่งนัก
 

เรื่องราวในแค่ห้วงคำนึงของพระไวย ถูกขยายและตีความได้ลึกซึ้ง กินใจและตบหน้ามนุษย์ได้มหาศาล
 

ในสังคมที่ “การอยู่เป็น” เป็นสิ่งสำคัญ และมักนำมาพูดกันให้ขบขัน กลับเป็นสิ่งที่เตือนใจให้เราต้องฉุกคิด...ในวันนั้นการเลือกที่จะ “อยู่เป็น” ของพระไวย ได้ทำร้ายหัวใจของผู้เป็นแม่อย่างร้ายกาจ...เออออไปก่อน เขามีบุญคุณ เดี๋ยวค่อยหาวิธีแก้ไข...
 

สังคมเราก็ยังเป็นเช่นนี้...
 

กระนั้นแม่วันทองก็ยังคงรักลูกและอยากจะเตือนให้เขาเข้าใจและดำเนินชีวิตได้อย่างสมเกียรติความเป็นมนุษย์...มนุษย์ผู้ให้เปรตมาร้องเตือน ให้เปรตตั้งคำถามที่เปรตตนนั้นไม่ได้เลือกเอง อุทธรณ์ไม่ได้ เถียงไม่ขึ้น พูดไม่มีคนฟัง..
 

ผู้กำกับได้ใช้พื้นที่ได้อย่างฉลาด และคุ้มค่าในทุกจุด ไม่ต้องมีฉาก ไม่ต้องมี props แต่การเห็นพื้นที่ในจินตนาการชัดเจน ประกอบกับแสง สี เสียง ลงตัว ทำให้ภาพในป่านั้นชัดยิ่งกว่าชัด..ถ้าคนทำเห็นชัด คนดูก็เห็นชัด
 

พื้นที่ที่ยิ่งใหญ่อุปกรณ์ครบครันคงไม่สำคัญเท่าความสามารถในการเนรมิตและสร้างสรรค์ของผู้สร้าง
 

พี่ตั้ว ในวัยใกล้แซยิด แต่ยังคงหนุ่ม หล่อ มีพลัง บทเพลงที่ผ่านปากของเขายังคงไพเราะและหมายความ
 

พี่เพียว นางเอกตลอดกาล ผู้เป็นนักแสดงที่ทำให้เราเชื่อเสมอว่าตัวละครเป็นใคร ถ่ายทอดได้จับใจนัก แม้เธอจะกล่าวเสมอว่าร้องเพลงไม่เก่ง แต่สำหรับคนดูนั้น มันดีมากและมีความมั่นใจในการเปล่งเสียงที่ต้องการสื่อมากกว่าต้องการสวย
 

น้องโมสต์ หรือไอ้จ้อยคนดังจากละครจอแก้ว รับบทพระไวยได้สมใจยิ่งนัก ลีลาเข้าชู้ยักษ์กินขาด และเขาเข้าใจว่าต้องแสดงอะไร เก่งมาก...แม่ของพี่ถึงกับพูดว่าทำไมเล่นเก่งขนาดนี้..ชอบมาก หล่อและเก่ง...แม่ชอบกว่าโป๊บ 555
 

คอรัสทั้งสี่คนคือความมหัศจรรย์ของการร้องเพลงไทยเดิมแบบประสานเสียง ไพเราะ ลงตัว และตีความ กรีก กล้วย เอ็ม เอ็ม ไอซ์ ช่างทำให้การแสดงงดงามยิ่งนัก

พี่คานธี พี่ยุ้ย แอม ฮอท ได้ถ่ายทอดเสียงผสมผสานเครื่องไทย เครื่องฝรั่ง การเรียบเรียงขั้นเทพ ทำให้เราฟังเพลงไทยเดิมในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก

เสียง flute กับเสียงกรีดร้องเป็นคีย์เดียวกัน ขนลุกเกรียว
 

แสง เสียง และเทคนิคพิเศษจากเอ๊ดดี้ ป๊อบและพาย ทำให้ห้องเล็กๆ เป็นเวทีการแสดงระดับสากล
 

การแต่งหน้าทำผมระดับตัวแม่ของเดียร์ ชนะเลิศ เธอเก่งขึ้นทุกวัน
 

แม่ถามเลยว่าบัตรเท่าไร พอบอกราคาไปว่า 650 แม่บอกอะไรกันไม่ใช่ 1,000 บาทขึ้นไปเหรอ แล้วเรานั่งหน้านึกว่า 1,500
 

มาค่ะถ้าคุณสร้างกุศลไว้พอ จักรวาลจะทำให้คุณได้ดู

bottom of page