top of page
12208358_1160629060633650_7801589495467774249_n_edited.jpg

01 : นาฏกรรมล้อ: การล้อเลียน การเสียดสี และการสร้างอารมณ์ขันใน แก้วหน้าหมา / กิตติศักดิ์ เกิดอรุณสุขศรี

ละครชาตรีร่วมสมัยเรื่อง แก้วหน้าหมา ของกลุ่มละครอนัตตา สร้างขึ้นโดยเลียนแบบและล้อวรรณกรรมพื้นบ้านที่รู้จักกันดีเรื่อง แก้วหน้าม้า บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาว่าผู้สร้างสรรค์ละครเรื่องนี้ล้อเลียนวรรณกรรมต้นแบบอย่างไร  และชี้ให้เห็นถึงสาระสำคัญที่ต้องการสื่อผ่านตัวบทของงานชิ้นนี้ตลอดจนกลวิธีการสร้างอารมณ์ขัน โดยศึกษาจากบทละครและการแสดง จากการศึกษาพบว่า ละครเรื่องนี้จัดเป็นนาฏกรรมล้อเรื่องหนึ่งที่หยิบยืมชื่อเรื่อง ชื่อตัวละครเอก และสิ่งของที่เป็นเหตุให้ตัวละครเอกได้พบกันจากวรรณกรรมต้นแบบมาล้อ ลักษณะการล้อของละครเรื่องนี้แสดงถึงการสะท้อนความเป็นเรื่องเล่าในงานของตัวเองมากกว่าเรื่องเล่าในงานต้นแบบ ดังจะเห็นได้จากจุดประสงค์ของละครเรื่องนี้ที่วิพากษ์และเสียดสีบริบทการเมืองไทยปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นความสนุกสนานในลักษณะเดียวกับละครชาตรีรูปแบบเดิมด้วยการสร้างอารมณ์ขันแก่ผู้ชม ซึ่งละครเรื่องนี้มีกลวิธีการสร้างอารมณ์ขันผ่านตัวละคร เนื้อเรื่อง และภาษา

02 : หัวร่อให้ถึงขีดสุดไปกับ “แก้วหน้าหมา” / มติชนสุดสัปดาห์ (4-10 ธันวาคม 2558)

“แก้วหน้าหมา” มีรูปแบบการแสดงเป็นละครชาตรี ดูเผินๆ คล้ายมีผู้แสดงเป็น “ชาย” ล้วน แต่ข้อเท็จจริง คือ มีนักแสดงข้ามเพศฝีมือเยี่ยมมารับบทเด่นอยู่หลายคน
 

นเชิงรูปแบบ ประดิษฐและคณะละครอนัตตา เล่นสนุกกับรูปแบบการแสดงของมหรสพพื้นบ้านอย่างเต็มศักยภาพ

คือ มีทั้งการพร่าเลือนพรมแดนระหว่างละครกับคนดู โดยพยายามเปิดโอกาสให้นักแสดงได้หยอกล้อกับคนดู ซึ่งอาจถูกกำหนดเอาไว้แล้วล่วงหน้าในบทละคร หรือเกิดจากการด้นสดเอาเองของผู้แสดง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการหยอกล้อคนดูเซเลบบางราย ที่มานั่งชมละคร ขณะที่เมื่อจบการแสดง คนดูมีชื่อซึ่งถูกหยอกเย้า ก็ได้โอกาสเล่นหัว/มอบรางวัลกลับไปยังคณะนักแสดงเช่นกัน

จนถือเป็นบรรยากาศการเล่นและชมมหรสพที่สนุกสนาน เปี่ยมไปด้วยมิตรจิตมิตรใจอยู่มิใช่น้อย
 

นอกจากนี้ พรมแดนระหว่างนักแสดงกับคนเบื้องหลังที่อยู่ด้านหน้าเวที อย่างคนบอกบท ก็ถูกทุบทำลายลง ด้วยการเปิดช่องให้คนบอกบทเข้าไปมีส่วนร่วมแทรกแซงในการแสดง ในฐานะตัวประกอบ คอยเดินตามเหล่าตัวละครหลัก แต่มักสร้างความจี๊ดจ๊าดให้แก่ละครได้อย่างสม่ำเสมอ (แถมยังต้องรับผิดชอบถึง 3 บทบาท เสียด้วย)

ลูกเล่นดังกล่าวสร้างเสียหัวเราะให้แก่คนดูได้เป็นอย่างมาก และเป็นองค์ประกอบอันน่าประทับใจลำดับต้นๆ ของละครเวทีเรื่องนี้

ในแง่เนื้อเรื่อง นอกจากการเล่นตลกกับชื่อตัวละคร เช่น แก้วหน้าหมา หรือ “ปลิ้นทอง คล่องชักว่าว” แล้ว ผู้กำกับฯ และคณะละครยังพยายามฉวยใช้ประโยชน์จาก “สภาวะยกเว้น” ซึ่งดำรงอยู่ในการแสดงแบบพื้นบ้านอย่างเต็มที่ และอาจกล่าวได้ว่า พวกเขาผลักดันละครของตนเองไปถึง “ขีดสุด” ของข้อยกเว้นเลยด้วยซ้ำ

ประดิษฐเล่นหัวกับสภาวะกลับหัวกลับหาง ที่สามารถเกิดมีขึ้นได้ในละครนอก/ละครชาตรี/ละครจักรๆ วงศ์ๆ เช่น การพลิกกลับสถานะของ “แก้วหน้าม้า” ลูกสาวชาวบ้าน ให้กลายเป็น “แก้วหน้าหมา” ธิดาเจ้าเมือง ส่วน “เจ้าชายปิ่นทอง” ก็กลับถูกลดขั้นให้เป็นเพียงชายหนุ่มสามัญชนนาม “ปลิ้นทอง”

เช่นเดียวกับการเล่นตลกใส่ตัวละครเจ้าเมืองและมเหสี ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการแสดงลักษณะนี้ โดยไม่ต้องยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย

ยิ่งกว่านั้น “แก้วหน้าหมา” ในละคร ยังมิใช่หญิงสาวแสนดีผู้มองโลกในแง่บวก แต่กลับเป็นตัวละครตลกร้ายที่ฆ่าคนราวผักปลา จนเหลือเพียงแค่พระอินทร์และปลิ้นทองเท่านั้น ที่เธอไม่กล้าเอาชีวิต

แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเพราะว่า “แก้วหน้าหมา” เกรงกลัวเกรงใจเทวดาและชายคนรัก ทว่า ละครสร้างคำอธิบายเอาไว้ว่า การปลิดชีวิตบุรุษทั้งสอง จะทำให้โครงสร้างเรื่องเล่าปรัมปราที่ถูกถ่ายทอดแบบมุขปาฐะต่อเนื่องกันมาเนิ่นนาน โดนทำลายทิ้งไปต่างหาก

เมื่อพล็อตจักรๆ วงศ์ๆ ธรรมดา ถูกพลิกเหลี่ยมมุมนิดหน่อย และมีการหยอดมุขตลกที่มีความร่วมสมัยลงไปเป็นระยะๆ ละครของประดิษฐและคณะละครอนัตตาจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ
 

ทั้งนี้ มุขตลกร่วมสมัยที่ผู้สร้างละครประดิษฐ์ขึ้น ก็ถือเป็นตัวชูรสสำคัญของ “แก้วหน้าหมา” จนส่งผลให้ละครเวทีเรื่องนี้ “ไปไกล” กว่าละครทีวีเรื่อง “แก้วหน้าม้า” (แต่ขณะเดียวกัน ก็เข้าถึงคนดูวงเล็กกว่ามาก)

ทั้งยังช่วยผลักดันให้คนดูได้เปล่งเสียงหัวเราะ (ต่อสิ่งที่ไม่น่าหัวร่อใส่) ออกมาอย่างเต็มเหนี่ยว โดยไม่ต้องพึ่งพามิคาอิล บัคติน ตลอดจนการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่ไหน

น่าเสียดาย ที่ผมคงไม่สามารถเฉลยมุขตลกเหล่านั้นในพื้นที่คอลัมน์นี้ได้

จึงได้แต่หวังว่า “แก้วหน้าหมา” จะกลับมาขึ้นเวทีการแสดงอีกครั้งในวาระอื่นๆ ภายภาคหน้า เพื่อให้ผู้ชมกลุ่มอื่นๆ ได้มีโอกาสสัมผัส ซึมซับ และหัวร่อไปกับมุขตลกร่วมสมัยของละครเรื่องนี้ ด้วยตนเอง

bottom of page