01 : ความประทับใจต่อสุภาพบุรุษคนหนึ่ง / พงศ์ พริบไหว 2014
หากใครสงสัยว่าละครเพลงเรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน และเอ่ยถามกับเจ้าความคิดร่างท้วม เจ้าตัวคงทำหน้ามึนส่ายหัวไปมาก่อนยิ้มน้อยๆ และตอบว่า หากความประทับใจของเขาที่มีต่อสุภาพบุรุษคนหนึ่ง ถูกตีค่าเป็นเช่นนั้นเขาไม่ขอเถียง เพียงแต่ทั้งหมดที่เป็น มันคือความระลึกถึงและความประทับใจในตัวนักเขียนผู้ล่วงลับแต่กายสร้างทำนาม ศรีบูรพา หรือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์
“ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา” คือ ละครเพลงที่กล่าวถึง ซึ่งมี บินหลา สันกาลาคีรี บรรณาธิการนิตยสารไรเตอร์ เป็นต้นคิดในการจัดแสดงขึ้น โดยได้ ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงแห่งคณะละครอนัตตา เป็นผู้เขียนบทชีวิตและตีความใหม่จากเวอร์ชั่นเดิมเมื่อ 12 ปีก่อน ที่เขาเองเป็นคนประพันธ์

ละครจะว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของนักเขียนผู้บุกเบิกวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย เนื้อเรื่องจะอยู่ในช่วงปี 2495-2500 นับตั้งแต่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจับในข้อหากบฏสันติภาพ
หลังเคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐอเมริกาที่ใช้กำลังเข้าไปในเกาหลี ถึงแม้ตัวจะถูกจองจำอยู่ แต่งานเขียนของเขายังคงถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องในนามปากกา “ศรีบูรพา” นั่นคือนวนิยาย “แลไปข้างหน้า” ซึ่งกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง เมืองกับชนบท การแบ่งแยกชนชั้น ทัศนคติ และค่านิยมที่ล้าหลังต่างๆ รวมถึงข้อเขียนต่างๆ อีกหลายเรื่อง โดยการช่วยเหลือลับของๆ ศรีภรรยา ชนิด สายประดิษฐ์
เป็นช่วงรอยต่อที่งานเขียนของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนไม่น้อยที่จำยอมต่อความ
อยุติธรรมในสังคมให้ลุกขึ้นสู้ และตรงจุดเชื่อมต่อ 2 ส่วนนี้เองผู้ชมจะได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนักเขียนคนหนึ่งที่มีต่ออุดมคติของตัวเองแม้สิ่งนั้นจะทำให้จำต้องลี้ภัยอยู่ในแผ่นดินอื่น จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ในวาระครบรอบ 40 ปีของการจากไป
เป็นความตั้งใจของนักเขียนซีไรต์ ที่อยากให้ละครเพลงเรื่อง “ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา” เป็นเสมือนการรำลึกถึงคุณูปการของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ได้สร้างไว้ให้กับวงการวรรณกรรม สื่อมวลชนและสังคม โดยตัวเขาเองได้พูดถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจว่า
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสดูละครเรื่องศรีบูรพาของคุณตั้ว (ประดิษฐ ประสาททอง) เป็นการนำมาแสดงเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็เป็นละครเวทีที่ใช้ทุนน้อยทำเพราะใจรักก็จัดกันง่ายๆ ในโรงละครเล็กๆ ซึ่งคนดูมีประมาน 30 คน ถึงงานจะเล็ก แต่เมื่อผมได้ดูละครผมประทับใจมาก สำหรับผมสิ่งที่ได้เห็นมันคือความมหัศจรรย์ ผมไม่เคยเห็นละครเวทีที่ดีขนาดนี้มาก่อน คือมันมีพลังจนกระทั่งผมรู้สึกว่ามันกระแทกเข้าไปข้างใน และสื่อสารได้น่าสนใจตรงไปตรงมา หลังดูจบผมเลยตั้งใจกับตัวเองไว้เลยว่า วันใดวันหนึ่งถ้าผมสามารถช่วยให้ละครเรื่องนี้แสดงออกไปต่อสาธารณะชนได้มากกว่านี้ผมจะทำ”
5 ปีให้หลัง ตัวเขาเองได้นั่งแท่นเป็นบรรณาธิการนิตยสารไรเตอร์ ประจวบเหมาะทุกอย่างกับการผลักดันสิ่งที่ตั้งใจไว้ในยามก่อน อย่างการนำละครของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกสู่สายตาของสาธารณชนอีกครั้ง ในสายวันหนึ่งเขาจึงถามทีมงานนิตยสารไรเตอร์และผู้เขียนบทว่าพร้อมหรือไม่ และคำตอบที่ออกมาก็ทำให้เกิดเป็นละครเพลง “ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา”
“คือผมหวังอยู่ตลอดว่าต้องนำละครเพลงเรื่องนี้กลับมาให้คนดู เพราะผมคิดว่าชีวิตของคนดีเป็นชีวิตที่น่าสนใจน่าศึกษา แล้วศรีบูรพานอกจากจะเป็นนักเขียนนักคิด เขายังเป็นนักข่าวที่ดี เป็นคนในแบบที่ประเทศไทยต้องการ ผมเลยอยากให้คนแบบนี้เป็นต้นแบบให้เห็นว่าคนที่สังคมไทยต้องการเป็นยังไง และเมื่อเราเลือกนำเสนอผ่านละครเพลงแบบเก่า ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ของสังคมในวันนี้ มันจึงทำให้ยิ่งน่าสนใจ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจชีวิตของศรีบูรพาได้ดี”

ละครร้องที่ถูกตีความขึ้นใหม่
ประดิษฐ ประสาททอง เขียนบทละครเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ 12 ปีก่อน พอการทำงานครั้งที่ 3 จึงอยากปรับให้เหมาะสม และด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมจนเข้าใจถึงตัวละครอย่างละเอียดอ่อน ทำให้มีการเพิ่มเนื้อหาขึ้นใหม่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยคงรูปแบบขนบเดิมของละครร้องแบบไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคอยุธยาเอาไว้ ซึ่งถูกนำมาตีความทำนองใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของคนในปัจจุบัน
“จริงๆ เป็นการย่อยเอา 2 เวอร์ชั่นมารวมกัน อย่างครั้งที่ 1 ผมทำในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตอนนั้นเน้นเหตุการณ์ในคุกเป็นหลัก แล้วพูดถึงว่าแม้ตัวท่านเองจะอยู่ที่ไหนก็ตามแต่ขอให้มีประโยชน์ต่อสังคมท่านก็จะทำ ก็จะเล่าเป็นแบบนั้น ส่วนครั้งที่ 2 เนื่องจากทำเล็กมากเราจึงทำออกมาในมุมมองของคุณหญิงชนิด สายประดิษฐ์ คือภรรยาของคุณกุหลาบ ว่าช่วงเวลาที่สามีของเธอติดอยู่ในคุกเธอมีส่วนเคลื่อนไหวยังไง จึงสามารถนำต้นฉบับของสามีออกมาตีพิมพ์ได้ พอครั้งนี้ผมเลยจับเอา 2 ส่วนสะท้อนกันไปสะท้อนกันมา

“รูปแบบที่ผมทำก็จะเป็นละครร้องในยุคที่สมัยก่อนเคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูเอามากๆ แต่เมื่อภาพยนตร์เข้ามา ละครร้องแบบนี้จึงค่อยๆ เงียบและซบเซาลง โรงละครใหญ่ๆ ปิดตัว ดาราหรือผู้กำกับก็หันตัวเองมาผลิตรายการโทรทัศน์กันแทน ต่อจากนั้นจึงไม่มีการสร้างสรรค์ละครร้องต่อ” ผู้ก่อตั้งคณะละครอนัตตา พูดถึงรูปแบบละครในครั้งนี้ให้ฟังต่อว่า
ด้วยความที่ตัวเขาเองเคยเรียนรู้เพลง ที่มีรูปแบบเป็นละครร้องในยุคที่ยังคงใช้ทำนองของเพลงไทยเดิม มาจากครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติปี 2536 สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ซึ่งตัวครูสุดจิตต์เองก็ได้เล่าเรียนสืบทอดมาจากแม่บุญนาคและแม่เลื่อนที่มีโรงละครอยู่บางลำพู ในยุคมราได้รับความนิยมสูงสุด

“การทำงานแบบของผมเรียกว่าเป็นการสืบทอดมรดกเก่า คือทำนองเพลงไทยเดิมนั้นถูกปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา แต่ถูกนำไปใช้ในงานอื่นอย่างเช่น ละครนอกละครใน ละครโขน งานมโหรีปี่พาทย์เครื่องสาย อย่างยุคนี้ก็เปลี่ยนมารับใช้เพลงลูกทุ่งเช่นเพลงของสุนทราภรณ์ เราเลยต้องการเอาทำนองเก่านั้นมารับใช้งานละครเวทีหมือนที่เคยเป็น ไม่อยากให้มันตายไปเฉยๆ ก็นำมาเล่าใหม่ในแบบของเรา
“หลายๆ ทำนองที่เลือกใช้ก็จะเกิดยุคหลังปี 2475 ซึ่งจะสะท้อนถึงยุคสมัยนั้น ส่วนเนื้อร้องก็แต่งใหม่หมดแล้วทำให้มีความพิเศษด้วยการขับร้องให้ฟังดูแล้วไม่เชย นี่แหละคือความพิเศษที่ไม่สามารถรับชมรับฟังได้จากที่ไหน เพราะในปัจจุบันละครร้องแบบที่ผมทำไม่มีอีกแล้ว หมดไปตั้งแต่ในเรื่อง ‘สาวเครือฟ้า’ ซึ่งหยุดแสดงมาตั้งแต่สมัยราชการที่ 5 และอีกความพิเศษเลยคือ ผมรักเวอร์ชั่นที่ 3 นี้มาก จึงอยากให้มาดูกันและคุณจะรักละครเรื่องนี้แบบที่ผมรัก”
02 : ละครร้อง ‘ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา’ / Kaewta 2014
ละครร้อง ‘ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา’
30/08/2557, 19.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
บัตรราคา 600 บาท
หลายคนคุ้นเคยกับ ‘ศรีบูรพา’ ว่าเป็นผู้เขียนนิยายรักสุดคลาสสิก ‘ข้างหลังภาพ’ แต่ถ้าถามคนรุ่นหลังกันจริงจังว่า ‘ศรีบูรพา’ เขียนเรื่องอะไรอีก หรือชีวิตเป็นอย่างไร ก็คงไม่ได้รับคำตอบอะไรนอกจากความเงียบ (ยกเว้นจะ Google หาคำตอบ)
เราก็เป็นอีกคนที่ลืมเลือนเรื่องราวของ ‘ศรีบูรพา’ ถึงจะทำงานในแวดวงเดียวกัน เคยทำข่าว ไปดูงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ‘ศรีบูรพา’ แต่ท้ายสุดแล้วก็จำอะไรไม่ค่อยได้อยู่ดี แต่พอมาดูละครร้องเรื่องนี้ก็รู้สึกเข้าใจ เข้าถึง ชีวิตของนักคิด นักเขียน นักสู้ผู้นี้ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งเป็นสื่อมวลชนเหมือนกันก็ยิ่งอินกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และได้รับรู้ว่าถึงจะผ่านไป 50 กว่าปีแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ ที่เวียนหมุนให้อะไรดิ่งลงอยู่ตลอด
ละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอเฉพาะการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ แต่ยังทำให้เห็นอีกด้านของชีวิตที่มีผู้หญิงคนหนึ่งคอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ‘ชนิด’ เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งจริงๆ ร่วมต่อสู้ในสิ่งที่เธอและคนที่เธอรักเชื่อมั่น และที่สำคัญคือเธอแกร่งพอที่จะยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ทั้งคู่โชคดีจริงๆ ที่ได้เจอกันและรักกันมากขนาดนี้ เพราะมันไม่ง่ายหรอกที่จะเจอคนที่รัก เข้าใจ ตัวเรา ความคิดเรา และพร้อมก้าวไปด้วยกันตลอดทางแบบนี้
ดูละครแล้วก็น้ำตาไหลพราก หลายประเด็นมันโดนมาก ต้องชมพี่ ‘ตั้ว – ประดิษฐ ประสาททอง’ ผู้กำกับและเขียนบทที่ทำออกมาได้งดงามขนาดนี้ ด้านการร้องก็ประทับใจมาก มีเสน่ห์แบบไทยๆ อดีตๆ ต่างจากละครเวทีส่วนใหญ่ที่เราได้ดู ซึ่งเอาขนบมิวสิคัลฝรั่งมาเยอะจนเกร่อและเหมือนกันไปหมด ส่วนการเล่าเรื่องก็ทำได้อย่างมีชั้นเชิง เพราะถ้าเล่าประวัติชีวิตคนไปเรื่อยๆ ก็คงหลับกันหมด ซึ่งวิธีการเล่าย้อนไปย้อนมาแบบนี้มันเวิร์คและชวนให้คิดติดตามตลอด ถ้าคนที่พอจำประวัติหรืออ่านหนังสือคุณกุหลาบมาบ้าง ก็น่าจะช่วยให้สังเกตอะไรได้มากขึ้น ที่สำคัญต้องชมนักแสดงด้วยว่าเล่นได้ดีจริงๆ โดยเฉพาะพี่ ‘เบียร์ – มณทกานติ’ แห่ง Divas Cafe ที่ถ่ายทอดความรักและความเข้มแข็งของคุณชนิดได้อย่างลึกซึ้ง
พอดูจบก็มีแต่คำถามลอยวนในหัว คงเป็นคำถามเดียวกับที่ ‘ศรีบูรพา’ น่าจะถามตัวเองอยู่หลายครั้งถึงหน้าที่ที่แท้จริงของสื่อมวลชน และทำไมการนำเสนอความจริงถึงได้ยากลำบากขนาดนี้ จนตัวเองถูกตราหน้าว่าเป็น ‘กบฎสันติภาพ’ (ถามจริงแปลว่าอะไรเหรอ) ถ้าสื่อมวลชนไม่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมและติเพื่อก่อแล้ว จะต่างอะไรจากคนเขียนนิยายประโลมโลก ที่วันๆ เอาแต่เขียนสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องจริง เอาแต่อวยคนอื่น หลอกลวงให้ผู้คนเห็นภาพลวงตา แน่นอนว่าเส้นทางนี้คงง่ายกว่าในแง่ของความอยู่รอด แต่ก็อยากถามคนประเภทนี้จริงๆ ว่าภูมิใจรึเปล่ากับสิ่งที่ทำ ส่วนคนที่ภูมิใจคงจะหาตัวถามยาก เพราะแทบจะไม่มีที่ยืนในประเทศนี้
บอกตัวเองว่าจะไม่เป็นสื่อมวลชนที่เอาแต่เขียนนิยายประโลมโลก