01 : มังกรสลัดเกล็ด: หัวเลี้ยวของละครไทยร่วมสมัย / อ.เจตนา นาควัชระ 2015
มังกรสลัดเกล็ด: หัวเลี้ยวของละครไทยร่วมสมัย
เจตนา นาควัชระ
พวกเขาได้รับมอบหมายให้มาสร้างละครฟอร์มใหญ่ เพื่อฉลอง 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ศิษยานุศิษย์ร่วมแรงร่วมใจกันหาทุนมาสนับสนุนคณะละคร “อนัตตา” แต่ชื่อของกลุ่มละครก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าพวกเขาไม่ยึดติดกับตัวตน นัยว่าพวกเขาเดินตามทิศทางที่ผู้มอบงานได้ให้ไว้ ดังที่ระบุไว้บนปกของสูจิบัตรว่าได้ “แรงบันดาลใจจากชีวประวัติ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ คนดีที่แผ่นดินไม่ต้องการ” แต่สิ่งที่ผมได้เห็นบนเวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อบ่ายวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 ไปไกลกว่าโจทย์ที่ได้รับมอบหมายอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการแปลงสาร แต่ความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ผลักดันให้พวกเขาสร้างสิ่งที่มีความหมายเกินกว่าข้อผูกพันกับข้อเท็จจริง กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า มังกรสลัดเกล็ด ไม่ใช่ละครอิงข้อเท็จจริง (documentary theatre) เช่น คือผู้อภิวัฒน์ (2530) หรือ เพื่อชาติ เพื่อhumanity (2556) ผู้เขียนบทใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันรวมถึงข้อมูลจากชีวประวัติและอัตชีวประวัติของอาจารย์ป๋วยมาเป็นเชื้อไฟ แต่ละครจริงมีความหมายที่เป็นสากลจนถึงระดับที่เราอาจจะต้องยอมรับว่า ถ้าถอดชื่อป๋วยออกไปจากละครเรื่องนี้ งานศิลปะชิ้นนี้ก็ยังทรงพลังในฐานะละครแห่งความคิดอยู่นั่นเอง
เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่าอาจารย์ป๋วยเป็นใคร ได้ทำอะไรให้ไว้แก่บ้านเมืองบ้าง ถ้าไปพูดกรอกหูพวกเขามากเกินไป เขาอาจะเบื่อเสียก่อน แต่ถ้าเขาดูละครเป็น (ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดกับคนรุ่นใหม่ทุกคน) เขาคงจะต้องได้รับความประทับใจจากสารที่แฝงเป็นแก่นของละครเรื่องนี้
นั่นก็คือ คนธรรมดาสามัญที่พ่อแม่สั่งสอนมาดี ได้รับการศึกษาที่ดี (ซึ่งไม่ได้แปลว่าได้ปริญญาขั้นสูงมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) จะใช้สัญชาตญาณใฝ่ดีที่ติดตัวมาในการช่วยกำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ แทนที่จะถูกกลืนกินไปอย่างง่ายดายในกระแสของประวัติศาสตร์
ความสำเร็จของละครเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ไม่ใช่เป็นงานเทอดทูนวีรบุรุษ ไม่ใช่อาศิรวาท แต่เป็นการมองโลกและสังคมด้วยวุฒิภาวะว่า ความสำเร็จหรือความล้นเหลวที่ผู้คนส่วนใหญ่มองเห็นนั้น เป็นสิ่งที่ตื้นเขินทั้งสิ้น
ตัวละครเอกทำกิจสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่สิ่งที่ให้กำลังใจอันมหาศาลแก่ผู้ชมก็คือ สัญชาตญาณใฝ่ดีในคนๆ หนึ่งปลุกสัญชาตญาณใฝ่ดีในตัวคนอื่นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้จากละครเวทีเรื่องนี้อาจเป็นมุมเล็กๆ เช่นการที่ป๋วยชักจูงให้นักการเมืองระดับสูงสละตำแหน่งในธนาคารพาณิชย์เสีย แม้ผลที่ได้จะอยู่ในวงจำกัดมาก แต่ก็เป็นการทำลายอคติของคนส่วนใหญ่ว่า นักการเมืองสับปลับในทุกกรณี และคำขวัญลมๆ แล้งๆ เช่น “จงทำดี” เป็นวาทกรรมตอแหล ในขณะที่ป๋วยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการหยุดยั้งไม่ให้ลูกศิษย์ของเขา ที่มืดบอดไปกับอุดมการณ์ทางการเมืองบางกระแส ต้องเดินไปสู่ความตายอันโหดเหี้ยมที่สุดที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเคยมีมาโลกนี้ซับซ้อนยิ่งนัก ละครสะท้อนชีวิตทำหน้าที่ปลุกมโนธรรมได้ก็ต่อเมื่อละครรู้จักสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนนั้นด้วยวิธีการที่ชวนประทับใจและชวนให้คิดต่อ
ในแง่นี้ ผมอยากจะพูดให้ไกลไปเลยว่า มังกรสลัดเกล็ด เป็น “ละครย้อนสูจิบัตร” การออกข่าวสารประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า เช่นในรูปของโปสเตอร์ รวมทั้งข่าวออนไลน์ที่เผยแพร่ไปล่วงหน้าในแบบของพรีวิว (preview) สร้างความคาดหวังให้แก่มหาชนว่า เรากำลังจะได้มาชมวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาที่ไต่เต้าขึ้นไปถึงขั้นผู้นำทางปัญญาและผู้นำในด้านอื่นๆ และแม้แต่สูจิบัตรเองก็เป็นไปในทางนี้
แต่เมื่อผมกลับบ้านมาอ่านข้อเขียนของผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดง ผมก็ได้รับการยืนยันประสบการณ์ที่ได้ชมละครเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า “ในบทละครเรื่องนี้ ‘ป๋วย’ ชายธรรมดาสามัญที่สร้างคุณูปการไว้กับประเทศ ไม่ใช่วีรบุรุษหรือปราชญ์เมธีที่หาข้อบกพร่องมิได้…”
เมื่อผมย้อนกลับไปอ่านคำคมของศาสตราจารย์ น.พ. ประเวศ วะสี ที่ลงพิมพ์ไว้ในสูจิบัตร ผมก็ต้องถามตัวเองว่า ละครที่ผมได้ชมเป็นไปตามคำปรารภของท่านราษฎรอาวุโสหรือไม่ การที่ท่านพูดถึงความโชคร้ายที่เราต้องสูญเสีย “คนดีศรีประเทศ” ควรจะทำให้เราต้อง “สำรวจตรวจสอบสังคมของเราดูว่า มีเหตุปัจจัยอะไรอย่างเป็นระบบหรือเปล่าที่ไม่เกื้อหนุน แต่ทำลายศักดิ์ศรีประเทศ จนกระทั่งเราขาดแคลนเทพเจ้าแห่งความดีที่เป็นคนไทย”
ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงบางคนคงอยากจะรีบออกมาแสวงหาศัตรูของชาติ หรือศัตรูของประชาชนให้ได้ แล้วนำตัวมาลงโทษเสียให้สาสม อย่างน้อยถ้าใช้เวทีละครเป็นตะแลงแกงสำหรับ “ศัตรู” เหล่านี้ได้ก็ยังดี
ประดิษฐ ประสาททอง และคณะไม่ให้น้ำหนักกับการสร้างอารมณ์รุนแรง สังเกตได้ว่าบทบาทของนักการเมืองขี้โกงนั้น กลายเป็นตัวกระจอกที่ชวนให้ขำขันมากกว่า ดังฉากในภัตตาคารจีนที่พวกเขาพยายามจะติดสินบนป๋วย หรือแม้แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็แสดงออกด้วยภาพกึ่งสัญลักษณ์โดยมีผู้นำเอาธงชาติมาทิ่มแทงนักศึกษา ซึ่งแสดงออกอย่างรวดเร็วเสียจนเราไม่มีเวลาที่จะเพาะอารมณ์โกรธขึ้นมา เขาคิดว่าศัตรูของประชาชนไม่มีหรือ หรือเขาจับ “ศัตรูที่ลื่นไหล” เหล่านี้ไม่ทัน หรือไม่ต้องการจะจับ
กรณีของมังกรสลัดเกล็ด ไม่ใช่กรณีของบทกวีของศักดิ์สิริ มีสมสืบ “รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี” ที่ผมชื่นชอบด้วยความจริงใจ เพราะนั่นเป็นการประกาศอย่างหนักแน่นถึงความยิ่งใหญ่ของ “อภัยทาน”[1] ผมไม่คิดว่าละครมิวสิคัลเรื่องนี้ต้องการที่จะส่งสารชัดเจนเช่นนั้น
เมื่อคิดหาคำตอบแบบเร่งด่วนไม่พบ ผมก็ต้องพึ่งความเป็นครูภาษาตะวันตก ผมนึกถึง “ละครประวัติศาสตร์” เรื่อง ความตายของดองตอง (ภาษาเยอรมันว่า Dantons Tod) ของนักประพันธ์ชาวเยอรมัน เก-ออร์ค บืชเนอร์ (Georg Büchner: 1813-1837) ซึ่งวาดภาพของความขัดแย้งในระดับบุคคลในกรอบของการปฏิวัติฝรั่งเศสเอาไว้อย่างน่าคิดมาก
แต่ในละครของไทยเรื่องนี้ เรามองไม่ออกว่าใครคือพระเอก ใครคือผู้ร้าย ประดิษฐและคณะเดินมาถึงขั้นของ “ความเป็นกลางของประวัติศาสตร์” ที่มิใช่ความเฉยเมยต่อความผิดชอบชั่วดี
ผมลองทวนความจำต่อไป โดยย้อนกลับไปคิดถึงสมัยที่ทำวิทยานิพนธ์ และได้ไปพบทฤษฎีของกลุ่มโรแมนติกเยอรมัน ซึ่งดูจะแหวกแนวออกไปจากนักคิดตะวันตกอื่นๆ นั่นก็คือ พวกเขาอธิบายความยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์ว่า มหากวีผู้นี้มองมนุษย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะสามารถถอยห่าง แล้ววางตัวไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่สูงพอที่จะมองลงมาที่โลกมนุษย์ ราวกับจะแสดงให้เห็นว่า “ข้าฯ เข้าใจแล้วว่าโลกเป็นอย่างนี้” กลุ่มโรแมนติคเรียกจุดยืนของมหากวีว่า “irony” ในความหมายที่ไม่เหมือนใคร (ซึ่งคงหาคำแปลให้ตรงไม่ได้) ผมอดคิดไม่ได้ว่า ผู้สร้าง มังกรสลัดเกล็ด ก็คงจะใช้วิธีการที่คล้ายกัน
ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการยกยอกันจนเกินการ แต่ผมหาคำอธิบายด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ เมื่อนักวิจารณ์คิดอะไรไม่ออก เขามักจะอ้างทฤษฎีของผู้อื่น ผมยอมรับข้อบกพร่องของตนเองในกรณีนี้
กว่าทศวรรษมาแล้ว ประดิษฐ ประสาททอง สร้างละครขึ้นมาเรื่องหนึ่งซึ่งนำออกแสดงกลางแจ้งใต้ต้นลำพู ณ สวนสันติชัยปราการ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รอบที่ผมดูเป็นเวลากลางคืน
มองไปเห็นสะพานพระราม 8 อยู่เบื้องหลัง ชวนให้ผมฟุ้งซ่านนำเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ นานามาโยงกัน แล้วเขียนเป็นบทวิจารณ์ที่ค่อนข้างจะใช้อารมณ์ว่า “คำกล่าวหาจากศาลาทวงศพ” ที่ผมเกิดอารมณ์รุนแรงก็เพราะงานต้นแบบชื่อ นายซวยตลอดศก ชี้ชวนให้ผมร่วมออกไล่ล่า “ศัตรูที่ลื่นไหล” ไปกับพวกเขาด้วย เมื่อปี 2545 ชายหนุ่มและหญิงสาวกลุ่มนี้ยังคิดว่าศัตรูของประชาชนมีอยู่ และก็มีความสามารถสูงพอที่จะชวนให้ผู้ชมที่มีใจสวามิภักดิ์เช่นผมเห็นคล้อยตามไปด้วย[2] เวลาผ่านไป พวกเขาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
ทั้งๆ ที่เขาคงไม่เคยอ่านทฤษฎีโรแมนติกเยอรมัน แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ พวกเขาตัดสินใจเดินไปในทิศทางที่พ้องกับกลุ่มโรแมนติก แต่ก็ด้วยเหตุอันใดเล่าที่พวกเขา ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “ละครผอม” ผละหนีจากถิ่นกำเนิด แล้วหันมา “เล่น” กับ “ละครอ้วน” ในรูปของมิวสิคัล
ผมตั้งโจทย์อันหนักหน่วงให้แก่ตัวเองอีกแล้ว โดยไม่ประสงค์ที่จะรับรู้ความจริงจากปากผู้สร้าง มังกรสลัดเกล็ด
ผมเฝ้าสังเกตนักแสดงกลุ่มนี้มานานพอที่จะเห็นทิศทางของพัฒนาการทางความคิดและพัฒนาการทางศิลปะของพวกเขาได้บ้าง กลุ่ม “มะขามป้อม” อันเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเขาเป็น “ละครผอม” ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ มีการสร้างนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านของรูปแบบและเนื้อหา ข้อจำกัดในเชิงกายภาพในรูปของพื้นที่แสดงขนาดเล็กอาจจะเป็นคุณกับพวกเขาเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องสลัดทิ้งเสียซึ่งการสร้างสิ่งบันเทิงที่ตระการตา (spectacle) นักแสดงกับคนดูอยู่ใกล้กันมาก ทุกคำพูด ทุกอิริยาบถต้องสื่อความหมาย นักแสดงต้องพยายามไม่ให้เกิดความผิดพลาด ความใกล้ชิดในเชิงกายภาพทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางความคิดและทางใจ ถ้าเทียบกับดนตรี (ตะวันตก) ก็คงจะเทียบได้กับ chamber music ซึ่งเรียกร้องความสมบูรณ์ในด้านของการแสดงและความเป็นกันเอง (intimacy) ระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม ผมได้เคยเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ในชื่อเรื่องว่า “Spatial Concentration and Emotional Intensity” (1990) แต่เป็นการวิเคราะห์งานวรรณกรรมฝรั่งเศสของ Sartre และ Camus ที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนไทย[3] ถึงอย่างไรผมก็เชื่อว่าหลักการเดียวกันใช้ได้กับ “ละครผอม” ของเราด้วย เรื่องของความเข้มข้นทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วในงานของนักแสดงกลุ่มนี้ แต่ก็ถูกกำกับด้วยความเข้มข้นทางความคิด ซึ่งในบางครั้งเป็นเรื่องของการใช้เหตุผล (rationality) เป็นกรอบที่คุมอารมณ์มิให้ล้นเปี่ยม นั่นอาจจะเหมาะกับทิศทางของละครเพื่อการศึกษาที่กลุ่ม “มะขามป้อม” เดิม ต้องตอบสนอง
เมื่อมีการก่อตั้งคณะละครใหม่ที่มีเสรีภาพในการกำหนดทิศทางของการแสดงมากขึ้น (แต่คงไม่ถึงขั้น “ศิลปะเพื่อศิลปะ”) นักแสดงกลุ่มนี้ก็กล้าที่จะสร้างความแปลกใหม่ที่เป็นไปตามหลักการทางสุนทรียภาพได้เด่นชัดกว่าเดิม
ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจยิ่งคือ The Return of Wanthong เพราะเป็นการตีความใหม่ที่ทำให้เราต้องกลับไปอ่าน ขุนช้างขุนแผน ด้วยความพินิจพิเคราะห์กว่าเดิม งานศิลปะที่เราทึกทักเอาว่าเป็นงานที่สร้างเสร็จแล้ว (finished work) นั้น ความจริงเป็นเพียงศักยภาพ (potential) ตามทฤษฎีของนักปรัชญาและนักวรรณคดีชาวโปแลนด์ Roman Ingarden (1893-1970)[4] การตีความ (interpretation) โดยปกติเป็นกิจของผู้รับ แต่การตีความใหม่ (re-interpretation) มักจะเป็นกิจของผู้สร้าง ซึ่งนำเอางานต้นแบบมาตีความใหม่ด้วยการสร้างใหม่ที่แหวกแนวออกไปจากทิศทางเดิม
The Return of Wanthong มิใช่ละครชวนหัว แต่เป็นละครชวนคิด และผู้สร้างมีความกล้าถึงขั้นที่จะแต่งต่อเติมจากงานต้นแบบด้วยกลอนเสภาใหม่ซึ่งผู้รู้เท่านั้นที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นของเก่า อะไรเป็นของใหม่ การถอยห่างจากสิ่งที่เราคุ้นชิน ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถอยห่างในด้านของเนื้อหามากกว่ารูปแบบ เป็น “การทำให้แปลก” (Verfremdung) ที่เกินไปกว่าวิธีการแสดงที่ Bertolt Brecht (1898-1956) ได้คิดเอาไว้ และใช้ในละครของเขา เปรตนางวันทองทำหน้าที่ใหม่ในการเตือนสติลูกของตัวเอง ซึ่งพอสรุปความได้ว่า “แกกะล่อน คิดแต่จะเอาตัวรอด แกไม่ปกป้องเกียรติของแม่” (ซึ่งไม่ได้แปลว่า เกียรติยศของสตรี ที่กลุ่มสตรีนิยมต้องการจะให้เป็น) นั่นเป็นการใช้วรรณคดีมรดกวิพากษ์สังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างสะใจนัก
ผมจงใจออกนอกเรื่องไปบ้าง ก็เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่า มังกรสลัดเกล็ด มิใช่มิวสิคัลในความหมายที่ผู้คนส่วนใหญ่คาดหวัง เพราะนักแสดงกลุ่มนี้มีประสบการณ์เฉพาะของตนที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มผู้ทำละครที่มุ่งสร้างความประทับใจด้วยความโอ่อ่าโอฬาร
ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อโอกาสมาถึง พวกเขาก็ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างดี สิ่งแรกที่ผมสังเกตได้ก็คือ เขาใช้พื้นที่อันมโหฬารของเวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้เต็มศักยภาพ เปิดฉากมาก็เห็นป๋วยตอนเด็กลากจักรยานวิ่งผ่านเวทีไปอย่างรวดเร็ว ในตอนแรกยังไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร แต่ต่อมาก็เข้าใจได้ว่า นั่นเป็นเรื่องของเด็กชายที่แม่เข้มงวดมาก ไม่อยากให้ทำอะไรที่โลดโผน แม้แต่ขี่จักรยาน ซึ่งในที่สุดลูกชายก็ฝืนคำสั่งจนได้ และก็ทำตนเองแขนหัก องก์แรกใช้เวลานานมากกับเรื่องการอบรมสั่งสอนของครอบครัว ณ จุดนี้ ผู้กำกับการแสดงคงมีปัญหากับตัวเวที จึงไม่เลือกวิธีการแสดงที่เน้นฉากภายในบ้าน
สำหรับตอนที่ละครใช้พื้นเวทีอันกว้างใหญ่นี้ในการสร้างความประทับใจคือ ฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งฝูงชนวิ่งสวนกันไปมาอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ผมอยากรู้ว่า ใครหนอคือผู้กำกับเวทีที่ฝึกปรือผู้แสดงเหล่านี้มาไม่ให้วิ่งชนกัน ในที่สุดก็ได้ทราบว่าผู้รับผิดชอบคือ หัวหน้า คณะละคร “B-Floor” (ธีระวัฒน์ มุกวิไล) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูงในด้านของการกำกับความเคลื่อนไหวของตัวละคร ละครมิวสิคัล โดยธรรมชาติชอบเวทีขนาดใหญ่ และในการแสดงครั้งนี้ ผมคิดว่าดนตรี การขับร้อง และการเต้น (ซึ่งอาจไม่ใช่จุดเน้น) ทำให้เราไม่รู้สึกว่าเวทีเป็นเบ้าหลอมการแสดงที่ใหญ่เกินไป
ขอโอกาสพูดถึงดนตรีเสียเลย ณ ที่นี้ เพราะผมคิดว่านั่นคือองค์ประกอบหลักที่ทำให้มิวสิคัลเรื่องนี้คงความเป็นมิวสิคัลได้อย่างสมภาคภูมิ ละครเรื่องนี้มิได้เน้นการสร้างเพลงหลักเพียงไม่กี่เพลงที่ฟังแล้วติดหู (จุฬาตรีคูณ ใช้เพียง 5 เพลงที่กลายเป็นเพลงอมตะไปทั้งหมด) แต่เป็นการใช้ดนตรีดำเนินเรื่องอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงมีพื้นมาจากดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ผู้ประพันธ์เพลง (คานธี วสุวิชย์กิต) ก็ตอบสนองทิศทางนั้นด้วยการนำทำนองเพลงไทยเดิมมาปรับและขยายต่อด้วยเครื่องดนตรีที่หลากหลายมาก
ระหว่างพักครึ่งเวลา ผมถือโอกาสชะโงกหน้าไปใน “ห้วงเหว” หน้าเวที (ศัพท์นี้มาจากวากเนอร์ที่ใช้คำว่า “Abgrund”) เห็นเครื่องดนตรีหลากชาติที่นักดนตรีใช้แล้วก็เกิดความทึ่งเป็นอันมาก เสียงที่เราได้ยินจึงเป็นเสียงที่หลากหลาย ปรับไปตามความต้องการที่หลากหลายเช่นกัน ถ้าละครกล่าวถึงครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ดนตรีก็ตอบสนองให้ได้ ถ้าอยากจะเป็นไทยก็เสนอเพลงที่เรารู้จักกันดี เช่น แขกสาหร่าย ซึ่งบรรเลงด้วยลีลาที่เป็นสมัยใหม่ คณะละครเดิมรู้จักละครร้องสมัยแม่เลื่อนมาเป็นอย่างดี (โปรดอย่าลืมว่าครูเอื้อ สุนทรสนาน เริ่มต้นที่นั่น ก่อนจะหันมาพัฒนาเพลงไทยสากลอย่างเต็มรูป) นักแสดงบางคนฝึกปรือการร้องเพลงแบบนี้มาจาก ตุ๊กตายอดรัก เพลงรัก 2475 และ ศรีบูรพา: บันทึกแห่งอิศรา เมื่อมาถึง มังกรสลัดเกล็ด ก็ช่ำชองในเรื่องการร้องมาแล้ว แต่ผู้ประพันธ์เพลงก็เรียกร้องให้เติมเทคนิคการร้องที่นำเข้าสู่แนวตะวันตกได้อย่างไม่ขัดเขิน
สำหรับเพลงหมู่นั้นทำได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง เช่น ในตอนที่ญี่ปุ่นขึ้นเมือง มีการตั้งประเด็นเป็นเพลงว่า “สงครามจู่โจม เราจะอยู่ข้างใคร” มีบางตอนที่ทั้งทำนองและคำร้องของเพลงหมู่แสดงถึงความห้าวหาญและหนักแน่น เช่น “กูเป็นชายชาติเชื้อชาตรี” แต่ส่วนที่ทำให้ผมทึ่งที่สุดคือการร้องเดี่ยว และร้องคู่ (duet) โดยผู้แสดงเป็นอาจารย์ป๋วยตอนสูงอายุ และมากาเร็ต ภรรยาของท่าน (มนทกานติ รังสิพราหมณกุล) โน้ตตัวสุดท้ายที่สุประวัติ ปัทมสูต ผู้แสดงเป็นป๋วยตอนปัจฉิมวัยถูกกำกับให้ร้องนั้นเป็นการเปล่งเสียงแบบกึ่งอุปรากรเลยทีเดียว ซึ่งสุประวัติทำได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยเลขเจ็ดตอนท้ายแล้ว (ผมได้มีโอกาสสนทนากับสุประวัติหลังการแสดง ผู้ซึ่งบอกผมว่า ไม่เคยเปล่งเสียงได้ในระดับนี้มาก่อนเลย) ผมต้องหยุด ณ ตรงนี้ ก่อนที่จะพลาดพลั้งไปพูดถึงเรื่องปาฏิหาริย์!
อันที่จริง มังกรสลัดเกล็ด เป็นละครที่สร้างและกำกับได้อย่างลงตัวด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นของทุกคนในคณะละคร เมื่อผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงมีพื้นมาจากลิเกของไทยเรา (ซึ่งข้อนี้ทำให้ผมมีใจสวามิภักดิ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเพราะนั่นคือสิ่งบันเทิงประจำของผมในตอนเด็ก) การสร้างละครที่ไม่เน้นสัจนิยม (Realism) จึงเป็นหลักการที่ทุกคนต้องยึดตาม อย่าลืมว่าประโยคแรกที่ผู้แสดงลิเกเปล่งออกมาเป็นคำพูดในตอนเริ่มแสดงก็คือ “สมมุตินามตามท้องเรื่อง ตัวของข้าพเจ้าเองมีนามว่า …” วัฒนธรรมการแสดงที่มาจากลิเกจึงไม่ยึดสัจนิยมเป็นสรณะ
มังกรสลัดเกล็ด ไม่พยายามสร้างความสมจริงด้วยการใช้ตัวละครตัวเดียวแสดงเป็นตัวละครหลักตั้งแต่เยาว์วัยไปจนถึงปัจฉิมวัย แต่เปลี่ยนตัวแสดงไปเป็นช่วงๆ สำหรับผู้แสดงที่เล่นเป็นป๋วยและมากาเร็ตนั้นใช้ตัวแสดงชายสาม หญิงสาม เปลี่ยนไปตามวัย (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องใช้ผู้แสดงที่มีอายุตรงตามความเป็นจริง) ผู้แสดงหลักบางคนเป็นดารายอดนิยมที่อาสามาเล่นละครเรื่องนี้โดยลืมไปว่าตนเองเป็นดารา ในหลายตอนมีการเปลี่ยนตัวแสดงให้เราเห็นบนเวทีเสียเลย อาทิ ให้ตัวละครวัยหนึ่งแสดงอยู่ ในขณะที่ตัวละครอีกวัยหนึ่งยืนรอรับบทต่อไป ยิ่งในช่วงที่เปลี่ยนช่วงเวลาด้วยเทคนิค flashback ด้วยการใช้คนเล่นต่างคนกัน เราก็สำนึกได้ทันทีว่าละครไม่ใช่ “มายาอันสมบูรณ์”[5] คงจะไม่ใช่เป็นการจงใจที่จะ “ทำให้แปลก” อย่างเต็มรูปตามทฤษฎีของเบรคชท์ แต่วิธีการแสดงดังกล่าวช่วยให้เราได้หยุดคิดและฉุกคิดอยู่ตลอดเวลา
มิวสิคัลเรื่องนี้จึงมิใช่สิ่งบันเทิงที่ตระการตาดังที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกร้องกัน แต่เป็นการเปลี่ยนวิกจาก “ละครผอม” อันเป็นละครแห่งความคิด มาขึ้นเวทีใหญ่ได้อย่างเหมาะสม ในเมื่อหลักการเป็นเช่นนั้น การจะเดินตามข้อมูลเชิงประวัติโดยเคร่งครัดจึงเป็นสิ่งที่ผู้สร้างจงใจไม่กระทำ
ผู้สร้างบทที่ไม่ประสีประสาคงจะเขียนบทตอนท้ายตามความจริงให้เห็นภาพของอาจารย์ป๋วย เป็นอัมพาต พูดไม่ได้ ทำไปทำมาเลยอาจจะกลายเป็นละครเรียกน้ำตาด้วยความเวทนา สงสาร ถ้าทำอย่างนั้น ความสง่างามของตัวละครเอกก็จะอันตรธานไปสิ้น
การใช้ข้อมูลเชิงชีวประวัติให้เกิดประโยชน์นั้น ผู้เขียนบททำได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เรื่องของหญิงชราคนหนึ่งที่เข้ามาหาป๋วยตอนเป็นเสรีไทยโดดร่มลงมาผิดที่แล้วถูกจับที่จังหวัดชัยนาท มีความหนักแน่น เพราะฉากนี้ปรากฏขึ้นถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริง และในครั้งที่ 2 เป็นการคิดย้อนหลัง ซึ่งข้อมูลนี้ก็มาจากหนังสือ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของอาจารย์ป๋วยเอง ซึ่งระบุว่า หญิงชราผู้นั้น “นั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึง 2 ชั่วโมง ไม่ไปไหนและนั่งเอามือกอดเข่า … และพูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่งๆ ว่า พุทโธ่หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า”[6]
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างป๋วยกับมารดานั้นเป็นจุดสำคัญของเรื่อง เพราะบิดาของป๋วยถึงแก่กรรมเมื่อเขายังเล็ก และมารดาเสียสละให้แก่ลูกมาตลอด การใช้ฉากของหญิงชราผู้นี้มาสะท้อนเรื่องความรักของแม่ที่มีต่อลูก จึงเป็นการส่งสารอันสำคัญโดยทางอ้อม แต่ก็อีกนั่นแหละ ในชีวิตจริง แม่ของป๋วยยอมลำบาก เป็นหนี้เป็นสินเพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งค่าเล่าเรียนแพงมาก โดยแม่ยึดคำคมภาษาจีนว่า “ชิ้วเส่ยอาตั้วกาชึง” แปลว่า “มือเล็กอุดก้นใหญ่”[7] เกร็ดจากชีวประวัติก็สร้างความขำขันได้เช่นกัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใคร่ขอยกมาอภิปรายก็คือ ฉากบ้านของป๋วยในตอนที่มีตำแหน่งสำคัญแล้ว แต่ก็สมัครใจอยู่เรือนไม้ และภรรยาชาวอังกฤษก็ดูจะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่สุดแสนจะธรรมดานั้นได้เป็นอย่างดี หนังสืออัตชีวประวัติของอาจารย์ป๋วยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้แบบกึ่งตลก แต่เปี่ยมด้วยคติสอนใจ ดังข้อความที่ว่า “จอมพลสฤษดิ์ได้พูดกับผมสองสามครั้งว่า คุณป๋วย ผมรู้ดอกว่าบ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย เอาไหม ผมจะสร้างตึกให้อยู่อย่างสบาย ผมก็ตอบท่านว่าขอบพระคุณ แต่ผมอยู่สบายแล้ว ไม่เคยบ่นว่าไม่สบายเลย ครั้นท่านเซ้าซี้หนักเข้าก็เลยพูดทีเล่นทีจริงว่า เมียผมเขาไม่ชอบอยู่ตึก ถ้าท่านสร้างตึกให้ก็จะเข้าอยู่ไม่ได้”[8] จะเห็นได้ว่าผู้เขียนบทมีความจัดเจนสูงมากในการที่จะปรับข้อมูลเชิงชีวประวัติให้เป็นละครที่น่าสนใจยิ่ง
ละครฉากสุดท้ายเดินไปในทางตรงกันข้าม เป็นการสร้างความหวังเสียด้วยซ้ำว่า “ข้าฯ ทำได้เท่านี้ ข้าฯ ก็เป็นผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ได้แล้ว ตามวิธีของข้าฯ” แทนที่จะกลับบ้านมาด้วยความเศร้าหมอง ผมกลับเกิดความรู้สึกเบิกบานใจเสียด้วยซ้ำที่ได้ร่วมรับรู้ชะตากรรมของสามัญชนคนหนึ่งที่มุ่งกระทำความดี และน่าจะเป็นตัวอย่างที่กระตุ้นให้เกิดคนดีขึ้นได้อีกหลายคน
ขออนุญาตอ้างตัวอย่างจากดนตรีคลาสสิกตามประสาของคนคลั่งดนตรีประเภทนี้ โดยปกติงานประเภท requiem คือ มรณานุสรณ์ที่คีตกวีแต่งขึ้นเพื่อเป็นศาสนบูชา หรือเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่จากไปหรือผู้เป็นที่รัก แต่โยฮันเนส บราห์มส์ (Johannes Brahms: 1833-1897) สร้าง Ein deutsches Requiem (โดยใช้ตัวบทจากคัมภีร์ภาษาเยอรมัน ไม่ใช่ภาษาละตินดังเช่นที่ใช้กัน) ขึ้นมาในทิศทางตรงกันข้าม คือมิใช่มรณานุสรณ์ ไม่ใช่งานที่สร้างขึ้นสำหรับคนตาย แต่เป็นงานที่ให้ความหวังกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่
มังกรสลัดเกล็ด ก็เช่นกัน เป็นสิ่งบันเทิงตระการตาที่ต้องการให้คนดูเกิดความหวังว่า แผ่นดินนี้มีคนดีเกิดขึ้นมาได้เสมอ อันที่จริง ละครเรื่องนี้ไม่จบ เพราะเปิดทางให้เราคิดต่อว่า คนดีที่เสฉวน ไม่ได้มีแต่เพียงคนเดียว ผมเอ่ยถึงละครของเบรคชท์เรื่องนี้ขึ้นมาด้วยความจงใจ มังกรสลัดเกล็ด จะต่างออกไปก็เพราะละครของเบรคชท์นั้นมีปัจฉิมบทแถมเข้ามา โดยประโยคสุดท้ายเป็นการป่าวร้องขอให้ผู้ชมกลับไปทำการบ้านด้วยการแสวงหาคนดีมาจรรโลงโลก โดยการกล่าวซ้ำ 3 ครั้งว่า “ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้” มังกรสลัดเกล็ด ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะเป็นละครที่ประกาศความเชื่อในสัญชาตญาณใฝ่ดีในตัวมนุษย์อยู่แล้ว
เมื่อปี 2530 คือผู้อภิวัฒน์ เบิกทางใหม่ให้แก่ละครร่วมสมัยของไทย ด้วยการใช้ตัวบทที่มาจากหลักฐานจริง ตัดต่อ แต่งเสริมอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นต้นแบบของละครผอม อันเป็นละครแห่งความคิด ที่ทำให้เราต้องกลับไปทำการบ้านอันหนักหน่วง เราโชคดีมากที่ในปี 2558 มังกรสลัดเกล็ด สร้างนวัตกรรมด้วยการหลอกใช้รูปแบบของสื่อบันเทิงฟอร์มยักษ์เพื่อสื่อสารอันหนักหน่วงเช่นกันด้วยวิธีการที่กอปรด้วยความหฤหรรษ์ แต่การลงทุนในลักษณะนี้คงจะทำได้ไม่บ่อยครั้งนัก วงการละครร่วมสมัยจำเป็นต้องคิดต่อไปว่าจะชวนมหาชน (อลเวง) ให้กลับมาผูกพันกับละครเวทีที่มีสาระได้อย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งรูปแบบของละครทุนนิยมเต็มรูป ขออย่าให้ต้องรออีกถึง 28 ปีเลย
02 : ความเห็นของสองแง่มุม / Kong Chayapong 2015
ไปดู #มังกรสลัดเกล็ด มาเลยขอเขียนถึง
ละครเล่าเรื่องชีวประวัติของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลอันสำคัญของธรรมศาสตร์และของประเทศชาติด้วยคุณงามความดีหลายๆอย่างที่อาจมีคำถามแทรกซึมอยู่ทุกขณะ เนื่องจากท่านอยู่ในตำแหน่งที่ "กำกึ่ง" ระหว่างฝ่ายในหลายๆเหตุการณ์
โดยส่วนตัวเป็นนศ.ม.ธรรมศาสตร์ที่เรียกว่าไม่เอาไหนในเรื่องสถาบัน เพราะไม่เคยศึกษา และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเมื่ออดีต และเกี่ยวกับอ.ป๋วยเอง
ละครได้เล่าเรื่องโดยใช้ความเห็นของสองแง่มุมควบคู่กัน ไม่ส่งmessageที่จะบอกว่า อย่างไหนผิดอย่างไหนถูก อะไรควรทำไม่ควรทำ ละครไม่ตัดสินด้วยเหตุปัจจัยของตนเอง ซึ่งชอบมากเพราะเชื่อว่า คนเราคิดได้ ก็เมื่อเจอกับตัวเอง โดยไม่ได้ผ่านการบอกเล่า และละครเรื่องนี้สามารถทำให้ย้อนกลับไปเจอเหตุการณ์ต่างๆที่เคยเกิดขึ้น โดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกใครคนใดคนหนึ่งกำลังบอกเล่าอยู่
สเน่ห์อย่างหนึ่งของละครคือการใช้เพลงแบบละครร้อง ที่เคยsearch หามานานและไม่เคยได้สัมผัสจริงๆสักที เรื่องนี้ผมชื่นชมดนตรีที่ทำได้ถูกจริตผมมากๆ ผสมผสานไทยกับสากลได้ดีจริงๆ และลงตัวในท่วงทำนองกับคำร้องที่ให้ความหมายได้เต็มเปี่ยม
ส่วนที่ขนลุกคือภาพและเสียงเหตุการณ์ทางการเมืองในธรรมศาสตร์สมัยนั้น ยอดโดมที่คุ้นเคย กับเสารั้วที่เหมือนของจริงเอามากๆ ถูกนำมาเล่าเรื่องและให้ความหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อตอนใช้ชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งในท่าพระจันทร์แทบจะไม่ได้สนใจมากนัก แต่วันนี้เหมือนได้เห็นภาพhologramที่ฉายในมหาลัย จนรู้สึกผิดกับตัวเองว่า ที่ที่เรายืนอยู่นั้นเราเห็นคุณค่ามันมากแค่ไหน
เนื้องเรื่องโดยสรุปคือดี คือชอบ และอยากให้การปรับและเล่นขึ้นอีก เหมาะมากจะเล่นในหอประชุมใหญ่ที่มธ. คุยกับครูสุ Supatra Kruekrongsuk ว่าผมอบากให้เล่นที่มหาลัยมากๆจริงๆ ครูสุก็บอกว่าเชียร์ให้พี่ตั้วได้นำไปเล่นจริงๆนะครับ Tua Pradit Prasartthong (มีอะไรให้รับใช้เรียกใช้ผมได้เลย ผมอยากให้มีละครเรื่องนี้เล่นอีกหลายๆรอบเลยจริงๆครับ)
03 : จะเป็นอะไรก็เป็นไป เเต่ต้องเป็นตัวของตัวเอง / Kruple Sudaratn Srisurakarnt 2016
มังกรสลัดเกล็ด
ละครดีมากกกกก
สนุก ตื่นเต้น อินไปด้วยทั้งเรื่อง
ชอบทุกอย่าง ทั้งนักแสดง บท การกำกับ แสง เสียงเพลง การเปลี่ยนฉากลื่นไหล เสื้อผ้าหน้าผม อุปกรณ์ในฉากที่ใช้
ได้เเง่คิด ได้อารมณ์ ได้ข้อมูล
คุ้มค่าอย่างเเรงที่ได้มาดู
โรงเล็ก ถึงเนื้อถึงตัว ถึงเครื่อง ถึงพริกถึงขิง
มีฉากเซอร์ไพรส์ และเล่นเอาน้ำตาไหลได้หลายฉากเหมือนกัน
ติเเค่ บางทีมีพูดตะกุกตะกัก เเต่เข้าใจได้ที่เป็นรอบเเรก^^
เสียงพูดเบากว่าเสียงร้อง แต่เข้าใจได้ว่าเป็นที่ไมค์มราใช้ เเต่พูดเคลียร์ฟังรู้เรื่องไม่เป็นปัญหา และมีบทบางตอน พูดไปแล้ว แต่มีร้องซ้ำความเดิมบ้างจ้า
นอกนั้น โดยเฉพาะ Dramatic Situation / Inner / การใช้ Space
จัดว่า เพอร์เฟคเลยค่ะ
อยากแนะนำทุกคนที่ชอบเเละไม่ชอบละครเวที
เวลาเพียง1ชม.50นาที ที่เข้ามาชมละคร มังกรสลัดเกร็ดเรื่องนี้
จะเป็นบทตอนในชีวิตที่มีค่า น่าจดจำ ประทับใจ
ทำให้วันธรรมดา ไม่ต่างอะไรกับวันสำคัญในชีวิต
ดูเสร็จเหมือนได้อ่านหนังสือสนุกๆสุดๆเล่มใหญ่
เหมือนรับของขวัญที่ฟ้าส่งมอบให้
ให้ทั้งความอิ่มเอมในหัวใจ และให้ทั้งเเง่คิดกับชีวิตเรา
"จะเป็นอะไรก็เป็นไป เเต่ต้องเป็นตัวของตัวเอง"
#มังกรสลัดเกล็ด
ชอบมากกกกกกกก จากหัวใจค่ะ
04 : แม้ว่านี่จะไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ชอบที่สุด แต่กลับเป็นเวอร์ชั่นที่อิมแพคที่สุด / นัสลี ละบายดีมัญ 2016
นี่เป็นละครร้อง #มังกรสลัดเกล็ด เวอร์ชั่นที่4แล้วที่ได้ดู เลยไม่ได้คิดกระตือรือร้นที่จะดูตั้งแต่แรก ซึ่งแม้ว่านี่จะไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ชอบที่สุด แต่กลับเป็นเวอร์ชั่นที่อิมแพคที่สุดเท่าที่เคยดูมา สาเหตุก็เพราะมันเล่นที่นี่ “ธรรมศาสตร์ รังสิต”
.
ในฐานะเด็กที่เรียนธรรมศาสตร์รังสิตมาสี่ปี เราคิดเล่นๆว่า ถ้าละครเรื่องนี้เล่นที่ท่าพระจันทร์ เราคงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร มันคงเป็นเรื่องปกติ ถ้าละครที่เล่าเรื่องราวชีวิตของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเล่นที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่ต่างจากกิจกรรมทางการเมืองอีกเป็นร้อยเป็นพันที่เกิดขึ้นที่นั่น แต่ “ทุ่งรังสิต” ในความรู้สึกเรา มันห่างไกลจากความขลัง “ความศักดิ์สิทธ์” ทางการเมืองในแบบที่ท่าพระจันทร์มีหลายเท่าตัว มันเป็นแค่สนามเด็กเล่น ที่เหล่านักศึกษาจะใช้ชีวิตสำมะเลเทเมายังไงก็ได้ บางคนถึงขนาดค่อนแคะว่ามันเป็นภาพแทนของธรรมศาสตร์ยุคสายลมแสงแดด (แม้ว่าส่วนตัว เราก็เชื่อว่า มันมีกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบของมัน) และคงเทียบไม่ได้กับวีรกรรมและการเสียสละของรุ่นพี่ที่ท่าพระจันทร์เมื่อกว่าสี่สิบปีก่อน
.
ระหว่างที่เรื่องราวในละครดำเนินมาถึงยุค 14ตุลา ยุค 6ตุลา จู่ๆเราก็สำนึกได้ว่า มีนักศึกษาที่ใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะมาดู หลายคนอยู่ในชุดอยู่หอ และคงจะปลีกตัวจากการใช้ชีวิตประจำวันที่หอมาดูละคร มาดูเรื่องราวของอ.ป๋วย มาดูเรื่องราวทางการเมืองที่ถูกเล่าผ่านมุมมองของ “พี่ตั้ว ประดิษฐ์ ประสาททอง” มันทำให้เกิดคำถามมากมายในใจเรา แล้วละครเรื่องนี้ เรื่องราวนี้ ตัวละครเหล่านี้มันมีความหมายอย่างไรต่อพวกเขา? ตัวละครอย่าง “ระพิน” แทบจะเป็นตัวแทนของพวกเขาด้วยซ้ำ หรือจริงๆแล้ว เรื่องราวทั้งเรื่องนี้ มันมีศักยภาพที่จะสื่อสารกับนักศึกษาที่นี่โดยเฉพาะด้วยซ้ำ แต่ทำไมพวกเขาต้องแต่งองค์ทรงเครื่องไปถึงสถานที่ไกลๆอย่าง BACC หรือศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำไมเราจะเอาละครหรือกิจกรรมศิลปะทางการเมืองเช่นนี้จากภายนอกหรือจาก “ผู้ใหญ่” มาโยนลงที่ “ทุ่งรังสิต” ไม่ได้ วิถีชีวิตแบบปกติๆของนักศึกษาก่อนหน้านี้ มันไม่เคย deserve ? พื้นที่ที่มีแต่นักศึกษาแห่งนี้มันไม่สำคัญหรือ? มันมีคน มันมีชุมชน และมีวิถีชีวิตของมัน และถ้าละครและ/หรือการเมืองมันจะอยู่กับคน ชุมชน และวิถีชีวิต มันก็ควรจะเกิดอะไรอย่างนี้ขึ้นที่นี่ตั้งนานแล้ว
.
มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าละครมันกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งในชีวิตประจำวันของนักศึกษา เป็นที่แลกเปลี่ยนไม่ใช่แค่กับนักศึกษาด้วยกัน แต่กับผู้ใหญ่ที่เป็นทั้งผู้สร้างงานและผู้ชม เราดีใจมากที่ได้เห็นภาพเหล่านี้ และขอเป็นกำลังใจให้ผู้จัดฯ และทีมงานโรงเรียนสาธิตฯ ขอให้ได้จัดกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ
.
สำหรับพรุ่งนี้ ใครที่อยู่รังสิต โดยเฉพาะ นศ.ธรรมศาสตร์ เราอยากจะเชียร์ให้ไปดู ละครร้อง “มังกรสลัดเกล็ด” เล่นรอบสุดท้ายที่ หอประชุม ร.ร.สาธิตฯ (อินเตอร์โซน) เวลา 14:00 ไปเถอะ เพราะเขาตั้งใจให้นักศึกษาได้ดู