A NoWhere Place
Synopsis
Playwright Note
ปี 2558 ผมเริ่มค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทละครเรื่องใหม่ที่จะจัดแสดงในวาระ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่จะมาถึงในปีถัดมา ความทรงจำหนึ่งที่แวบเข้ามาในสมองคือ ภาพร่างเปื้อนเลือดของหญิงสาวกึ่งเปลือยนอนไร้สติปะปนกับร่างไร้ชีวิตของนักศึกษาคนอื่นๆบนสนามหญ้า กับเศษไม้เปื้อนเลือดชิ้นหนึ่งที่วางอยู่ใกล้ๆ ภาพนั้นเป็นหนึ่งในหลายภาพที่อยู่ในเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 ผมจำได้รางเลือนว่าเคยเห็นภาพนี้ที่ไหนสักแห่ง อาจจะเป็นหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ นิทรรศการสักแห่ง หรือหนังสือสักเล่ม จำได้ว่าความรู้สึกแรกที่ได้เห็นภาพนั้นมีทั้งสะเทือนใจและเกิดคำถามขึ้นในหัวมากมาย อันที่จริงเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนั้นวนเวียนอยู่รอบๆตัวผมมาตลอด เพราะได้สร้างบทละครเพื่อจัดแสดงในวาระครบรอบเหตุการณ์นี้รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายครั้งหลายหน แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใดจึงทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับภาพอันติดตานี้เลอะเลือนไปได้ทั้งที่เวลาผ่านไปได้เพียง 40 ปี คิดมาถึงจุดนี้แล้วกลับหนาวเยือก ประสบการณ์เลือนหลงในประวัติศาสตร์ของผมน่าจะสะท้อนอาการ ‘ผิดปกติ’ของสังคมไทยได้ไม่น้อย
บทละครเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องราวกึ่งจริงกึ่งฝัน กึ่งชัดกึ่งเบลอ คาบเกี่ยวระหว่างความป่วยไข้ทั้งโดยธรรมชาติและถูกทำให้ป่วย และความหลงลืมทั้งโดยธรรมชาติและถูกทำให้ลืม รวมทั้งความพยายามในการบำบัดเยียวยาและผลที่เกิดจากความพยายามนั้น ผ่านตัวละครเจ้าสาว
เจ้าบ่าว แพทย์ และจิตแพทย์ ที่จะนำพาผู้ชมดำดิ่งไปสู่อดีตที่ยังหายใจรดต้นคออยู่ในปัจจุบัน พาให้สำรวจอาการ‘ผิดปกติ’ของผู้ชมในฐานะสมาชิกของสังคมที่‘ผิดปกติ’อยู่นี้ไปด้วยกันว่าแต่ละคนอยู่ในอาการขั้นไหนหรือไม่ และอาจมีใครสักคนมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความ‘ผิดปกติ’นี้ของสังคมนี้โดยไม่รู้ตัวบ้างหรือเปล่า
เนื่องด้วยเป็นเรื่องแรกที่ทดลองเขียนบทละครและนำเสนอในรูปแบบนี้ ซึ่งถือเป็นความใหม่ของแนวทางสร้างงานที่ท้าทายอย่างมาก ทำให้เมื่อเริ่มทำงานนั้น ผู้กำกับ นักแสดง และทีมงาน มีอาการคลำทางกันสะเปะสะปะอยู่พักใหญ่ แนวทางเริ่มก่อรูปชัดเจนขึ้นเมื่อ ดร ภาสกร อินทุมาร ได้อ่านบทละครร่างแรกระหว่างช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อฉายประกอบการแสดงแล้วช่วยตั้งคำถามที่น่าสนใจ รวม ทั้ง อ คอลิด มิดำ ช่วยสะท้อนความคิดเห็นจากการดูซ้อม และเมื่อ จารุนันท์ พันธชาติ ศิลปินรางวัล ศิลปาธร ปี 2557 ได้ขอนำบทละครเรื่องนี้ไปตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “แรงสะท้อนของปักเจกต่อแรงกระทบทางการเมืองผ่านบทละครเวทีและการแสดงร่วมสมัย” โดย Collective Thai Scripts ในปี2561 ก็ได้ตั้งคำถามบางประการระหว่างกระบวนการจัดพิมพ์ (แปลเป็นภาษาอังกฤษสำนวนสำหรับการอ่าน, พิสูจน์อักษร และจัดรูปเล่ม) ซึ่งความคิดเห็นและคำถามจาก‘สายตาที่สาม’เหล่านี้ นับว่ามีส่วนในการสร้างสรรค์และขัดเกลาบทละครอยู่มาก ต้องขอบคุณท่านเหล่านี้ไว้อย่างมาก
บทละครเรื่อง “ที่ ไม่มีที่” ถูกนำเสนอทางออนไลน์ในเทศกาลละครในประเทศฮ่องกง ในปี 2564 และยังถูกนำไปผลิตเป็นผลงานในชั้นเรียนศิลปะการละคร ของหลายสถาบันการศึกษาอีกหลายครั้ง
เรื่องของเจ้าสาวขี้เหงาและเจ้าบ่าวขี้ลืม กับความทรงจำเลวๆ ในวันร้ายๆ 40ปีให้หลัง
พวกเขานำพาแต่ความทรงจำดีๆ เพื่อกลับมาพบกันอีกครั้งในวันที่อะไรๆก็ยังร้ายๆ
ผลงานละครเวทีแนวชีวิตเข้มข้นของคณะละครอนัตตา ในวาระครบ 40 ปี
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อรำลึกถึงบทเรียนที่ต้องไม่ถูกละเลย
Cast & Crews
ที่ ไม่มีที่ : A Nowhere Place 2016
วันที่ : 22 ก.ย. - 9 ต.ค. 2559
สถานที่ : บีฟลอร์รูม สถาบันปรีดีพนมยงค์
ใน เทศกาลศิลปะนานาพันธ์ 2559
นักแสดง
ดวงใจ หิรัญศรี
ประดิษฐ ประสาททอง
นักดนตรี
โสภณัฐ ฤกษ์สมุทร
บทละครและกำกับการแสดง
ประดิษฐ ประสาททอง
กำกับศิลป์
ศรายุทธ เพชรสัมฤทธิ์
ออกแบบแสง
ปาลิตา สกุลชัยวาณิช
กรชัย มีวงศ์
แต่งหน้า
ปุนณิกา หรั่งฉายา
ฉายคำบรรยาย
พิไลพรรณ ธรรมมิตร
บัตร
กมลศรี ลิขิตประกายรุ้ง
แปลบทเป็นภาษาอังกฤษ
ดร.ภาสกร อินทุมาร